นักวิทยาศาสตร์เผย ขวดแก้วปนเปื้อนไมโครพลาสติกได้มากกว่าขวดพลาสติก 50 เท่า
สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารของฝรั่งเศสได้เผยผลการศึกษาที่น่าตกใจเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่า เครื่องดื่มที่บรรจุขวดแก้วมีระดับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกมากกว่าขวดพลาสติก
กิโยม ดูฟลอส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารฝรั่งเศสอธิบายว่า ทีมวิจัยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อ "ตรวจสอบปริมาณไมโครพลาสติกในเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ที่จำหน่ายในฝรั่งเศส และศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาชนะบรรจุประเภทต่างๆ"
การศึกษาของพวกเขาได้ตรวจสอบ "ผลกระทบของภาชนะบรรจุที่แตกต่างกัน" ได้แก่ พลาสติก แก้ว กล่องกระดาษ กระป๋องโลหะ กล่องพลาสติกแบบยุบตัวได้ (cubitainer) และครอบคลุมถึงเครื่องดื่มประเภทน้ำเปล่า ชา น้ำมะนาว โซดา เบียร์ และไวน์
แม้ว่าผลที่ออกมาจะพบไมโครพลาสติกในภาชนะทุกชนิดที่นำมาศึกษา ทีมวิจัยสรุปว่าผลลัพธ์นั้น "ตรงกันข้ามกับที่คาดไว้” เนื่องจาก “เครื่องดื่มที่จำหน่ายในขวดแก้วมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกมากกว่า"
"การทดลองแสดงให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากสีภายนอกของฝาปิด" ซึ่งบ่งชี้ว่าพลาสติกน่าจะมาจากฝาพลาสติกที่อยู่ด้านบนของขวด ทีมวิจัยยังกล่าวเสริมว่า "ขั้นตอนการทำความสะอาดก่อนการบรรจุสามารถลดการปนเปื้อนในเครื่องดื่มได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดไม่ได้กำจัดไมโครพลาสติกออกจากฝาปิดได้ทั้งหมด”
"เราคาดหวังผลที่ตรงกันข้าม" ไอเซลีน ไชบ์ นักศึกษาปริญญาเอกผู้ร่วมทำการวิจัยครั้งนี้กล่าวเสริม "จากนั้นเราก็สังเกตเห็นว่าในภาชนะแก้ว อนุภาคที่ปรากฏจากตัวอย่างมีรูปร่าง สี และองค์ประกอบโพลิเมอร์แบบเดียวกัน หรือก็คือพลาสติกชนิดเดียวกันกับสีที่อยู่ด้านนอกของฝาที่ปิดผนึกขวดแก้ว"
ปริมาณไมโครพลาสติกที่พบนั้นไม่นับว่าเล็กน้อย จากการศึกษาพบว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลม ชาเย็น เบียร์ และน้ำมะนาวที่บรรจุในขวดแก้วมีไมโครพลาสติกประมาณ 100 อนุภาคต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่ตรวจพบในขวดพลาสติกหรือกระป๋องถึง 50 เท่าตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Phys.org
ก่อนหน้าในโครงการศึกษาปี 2567 มีการตรวจพบว่ายิ่งคุณเปิดและปิดขวดน้ำอัดลมบ่อยเท่าใด ไมโครพลาสติกก็จะยิ่งเข้าสู่เครื่องดื่มผ่านทางฝาปิดมากขึ้นเท่านั้น นักวิจัยพบว่าทุกครั้งที่มีการเปิดขวดซ้ำ ระดับไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีบางประการจากการศึกษาล่าสุดนี้ เมื่อทีมวิจัยพบว่าน้ำเปล่าและไวน์ในขวดแก้วมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนน้อยกว่า แต่นักวิจัยยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้
ที่มา : foodandwine.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES