"บ๊วยแผ่น" ของว่างในความทรงจำ แท้จริงแล้วทำมาจากอะไร
"บ๊วยแผ่น" ของว่างในความทรงจำ
หากพูดถึงขนมในความทรงจำของเด็กไทยหลาย ๆ คน เชื่อว่าหลายคนต้องเคยลิ้มลอง “บ๊วยแผ่น” ขนมรสเปรี้ยวหวานแผ่นบางสีน้ำตาลแดง ที่มักวางขายตามร้านขายขนมโบราณหรือร้านชำทั่วไป แต่ทราบหรือไม่ว่า ขนมที่เราเรียกกันติดปากว่า “บ๊วยแผ่น” นั้น แท้จริงแล้ว…ไม่ใช่บ๊วย!
ความเข้าใจผิดที่ตกทอดมา
ชื่อ “บ๊วยแผ่น” กลายเป็นชื่อเรียกขนมเปรี้ยวแผ่นบางที่หลายคนคุ้นเคย แต่ในความจริงแล้ว ขนมชนิดนี้ไม่มีส่วนประกอบของผลบ๊วยเลยแม้แต่น้อย ไม่ได้ทำจากบ๊วยดอง บ๊วยเค็ม หรือแม้แต่พุทราจีนอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจผิดมาก่อน
ทำความรู้จักกับ “ซานจา” ขนมเบอร์รี่จีนที่แฝงอยู่ในครัวไทย
ขนมแผ่นที่เราเรียกผิดมาตลอดนั้น จริง ๆ แล้วมีชื่อว่า “ซานจา” (山楂 / shān zhā) เป็นขนมที่ทำมาจากผลไม้ชนิดหนึ่งในวงศ์กุหลาบ เรียกว่า ซานจาเบอร์รี่ หรือที่ฝรั่งรู้จักในชื่อ ฮอว์ธอร์นเบอร์รี่ (Hawthorn berry)
ซานจาเป็นผลไม้สีแดงจัด มีรสเปรี้ยวชัดเจน เมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปจะกลายเป็นแผ่นบาง ๆ รสเปรี้ยวอมหวาน มีเนื้อสัมผัสหนึบ ๆ นิยมกินเป็นของว่างคู่กับชา หรือใช้ช่วยลดรสขมของยาสมุนไพรในวัฒนธรรมจีน