‘ไทย’ ขึ้นอันดับ 3 อาเซียน ติด Top 46 ของโลก ดัชนีการสร้างชาติปี 2025-2026
วันนี้(2 ก.ค.)ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ แถลงดัชนีการสร้างชาติ (Nation-Building Index) จัดทำโดยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)โดยศูนย์ดัชนีเพื่อการพัฒนา (CID) ร่วมกับ สถาบันการสร้างชาติ (NBII) ในงาน ประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติ ICNB 2025 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น “เครื่องมือเชิงนโยบาย” ที่สามารถใช้ในการประเมินศักยภาพของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการสร้าง รัฐที่มั่นคง สังคมที่เข้มแข็ง และประชาชนที่มีคุณภาพ
การจัดอันดับ “ดัชนีการสร้างชาติ” (Nation-Building Index) ประจำปี 2025–2026 เป็นดัชนีระดับนานาชาติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการสร้าง "รัฐที่มั่นคง สังคมที่เข้มแข็ง และประชาชนที่มีคุณภาพ" ดัชนี Nation-Building Index พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบการวินิจฉัยเชิงนโยบายที่เรียกว่า “กรอบวินิจฉัยการสร้างชาติ” (Nation-Building Diagnostics Framework) ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลจาก 3 มิติหลัก ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางการเมือง โดยผ่านกระบวนการถ่วงน้ำหนักทางสถิติ พร้อมกลไกการแก้ไขข้อมูลที่ขาดหาย (data imputation) เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้อย่างเท่าเทียม
การจัดอันดับในปีนี้ครอบคลุม 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งให้ภาพเปรียบเทียบสถานะของประเทศต่าง ๆ ทั้งในเชิงภูมิภาคและระดับโลกอย่างชัดเจน โดย Top 10 ประเทศระดับโลก ได้แก่ สิงคโปร์(ครองอันดับ 1 ของโลก) ตามมาด้วย ฟินแลนด์, (คะแนนด้านสังคมโดดเด่น) สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก,ไอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, และเนเธอร์แลนด์
คุณทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) กล่าวว่า ดัชนีการสร้างชาติ (Nation-Building Index) มีการเชื่อมโยงตัวแปรสำคัญหลากหลายชุด เพื่อเพิ่มความแม่นยำและสะท้อนภาพรวมของการพัฒนาอย่างแท้จริงตัวอย่างเช่น ในมิติเศรษฐกิจจะมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการตลาด ส่วนในมิติสังคมจะรวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเป็นอยู่ของประชาชน โครงสร้างครอบครัว สภาพแวดล้อม และระดับความสุข โดยมีความเชื่อมโยงระหว่างตัวแปรเหล่านี้เพื่อสร้างภาพรวมที่ครอบคลุมมากขึ้น สำหรับมิติทางการเมือง ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอันดับของประเทศต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม บางประเทศมีแนวโน้มพัฒนาขึ้นในขณะที่บางประเทศมีอันดับที่ลดลง ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัตของการพัฒนา แต่ที่สำคัญคือ ดัชนีนี้สามารถสะท้อนบรรยากาศแห่งการแข่งขันเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประเทศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างชาติในยุคใหม่ ในบริบทของ ภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่น โดยได้รับการจัดอยู่ใน อันดับที่ 3 ของอาเซียน และอยู่ใน Top 50 ของโลก โดยลำดับในอาเซียน จากคะแนนแยกตามมิติ ประเทศไทยมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ: 55.2% (อันดับที่ 45 ของโลก)ด้านสังคม: 65.2% (อันดับที่ 51 ของโลก) ด้านการเมือง: 53.2% (อันดับที่ 75 ของโลก)
ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ (NBII) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านสังคมซึ่งได้รับคะแนนสูงกว่าอีกสองมิติ เป็นผลมาจากการพัฒนาระบบสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และระบบการดูแลความปลอดภัยสาธารณะ แม้คะแนนด้านเศรษฐกิจและการเมืองจะยังไม่สูงเท่าที่ควร แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มิติที่ไทยต้องเร่งพัฒนาเพิ่มเติมคือ เสถียรภาพทางการเมือง และ การควบคุมการทุจริต ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ
“ผลการจัดอันดับในครั้งนี้สะท้อนถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน แม้ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาในบางมิติ แต่ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพอย่างชัดเจนในการสร้างรากฐานของประเทศที่มั่นคง ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างชาติในระยะยาว”ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO