สภาฯ เห็นชอบ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพิ่มสิทธิ "ลาคลอด" เป็น 120 วัน
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร เปิดการประชุม ครั้งที่ 3 สมัยสามัญ โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวาระ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญนำกลับไปปรับปรุงมา จากการพิจารณาในสมัยประชุมก่อนหน้านี้
หลังจากที่ประชุมได้พิจารณารายมาตราครบถ้วน ที่ประชุมมีมติในวาระ 3 เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 416 เสียง ไม่มีผู้ใดลงคะแนนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในขั้นตอนถัดไป ก่อนประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปในอนาคต
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง โดยให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ขยายจากเดิม 98 วัน เป็น 120 วัน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร 60 วัน และให้ลูกจ้างหญิงสามารถลาต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีก 15 วัน ในกรณีที่บุตรมีภาวะเจ็บป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน มีความผิดปกติ หรือมีภาวะความพิการ โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลา 50 %
นอกจากนั้นยังให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่คลอดบุตร ได้เป็นระยะเวลา 15 วัน โดยใช้สิทธิก่อนหรือในวันที่ลาภายใน 90 วันนับแต่วันที่คลอดบุตร โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่คลอดบุตร 100 % ตลอดระยะเวลาที่ลา
เดินหน้าเต็มอัตรา สร้างโอกาสแรงงานไทย
นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำจุดยืนในการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม พร้อมเดินหน้าสร้างโอกาสให้แรงงานไทยอย่างเต็มกำลัง หนึ่งในภารกิจคือการผลักดันกฎหมายแรงงานใหม่ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบกว่า 21 ล้านคน เพื่อตอบโจทย์โลกการทำงานยุคใหม่ที่มีรูปแบบหลากหลาย โดยจะเร่งนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังเดินหน้าศึกษารูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อพัฒนากฎหมายและระบบประกันสังคมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนากฎหมายและระบบประกันสังคมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น สิทธิเรื่องการลาคลอด เป็นสิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายต่างเรียกร้อง ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่กระทรวงจะเร่งผลักดัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน และให้กระทรวงแรงงานเป็นโอกาสของแรงงานไทย
สุดท้าย สถานะของร่างกฎหมายนี้ผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 และถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อพิจารณาต่อไป ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาแรงงานไทย โดยเฉพาะด้านสิทธิและสวัสดิการของแรงงานหญิงและครอบครัว
อ่านข่าว : เปิดรายชื่อ 25 คนวอลเลย์บอลหญิงไทย ลุยซี วีลีก-ชิงแชมป์โลก 2025
คุมตัว "สีกากอล์ฟ" ขอฝากขังศาล ฐานฟอกเงิน-ฉ้อโกง
เอาผิดทารุณกรรมสัตว์ "ชาวต่างชาติ" ฝังลูกหมาทั้งเป็น จ.ภูเก็ต