เทียนพรรษา–หลอดไฟ ‘แสง’ ที่จุดโอกาสให้ธุรกิจ ในฤดูกาลแห่งศรัทธา
‘เข้าพรรษา’ ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลทางพุทธศาสนาที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็น ‘ฤดูการของแสงแห่งความศรัธทา’ สำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับของใช้ในศาสนา หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มธุรกิจเทียนพรรษาและหลอดไฟถวายวัด ซึ่งมีพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ และกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงแต่มีศักยภาพสูง
วันนี้ ประชาชาติธุรกิจ ขอเกาะกระแสกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมในช่วงเข้าพรรษาอย่าง ‘หลอดไฟส่องสว่าง-เทียนพรรษา’ พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นถึงปัจจัยของโอกาสทางการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค และเหตุผลว่าทำไมคนไทยจึงนิยมถวาย ‘เทียนพรรษา-หลอดไฟ’ ในช่วงนี้
เทียนพรรษา: จากพิธีกรรม สู่พลังเศรษฐกิจท้องถิ่น
แม้เทียนจะถูกใช้ในชีวิตประจำวันน้อยลง แต่ ‘เทียนพรรษา’ ยังคงเป็นหัวใจของประเพณี ทำให้โรงงานผลิตเทียนขนาดเล็กถึงขนาดกลางในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคกลาง ยังเดินสายการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนวันเข้าพรรษา
- เทียนขนาดใหญ่แบบแกะสลัก กลายเป็นสินค้างานฝีมือที่สามารถตั้งราคาได้สูง
- เทียนสำเร็จรูปเป็นเซตขายส่งได้ดีในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าศาสนภัณฑ์
- เทียนกลิ่นหอมหรือเทียนแต่งลวดลาย เริ่มถูกดัดแปลงให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
หลอดไฟ: เมื่อศรัทธาเชื่อมโยงกับการใช้งานจริง
ในยุคที่ไฟฟ้าเข้าถึงทุกพื้นที่ วัดต่าง ๆ หันมานิยมใช้ ‘หลอดไฟ’ เป็นของถวายแทนเทียน โดยเฉพาะหลอด LED และอุปกรณ์แสงสว่างประหยัดพลังงาน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ยังตอบโจทย์พุทธศาสนิกชนที่ต้องการ ‘ให้แสงสว่างทางกายและใจ’
- ผู้ค้าหลอดไฟบางรายออกแบบบรรจุภัณฑ์เฉพาะกิจ เช่น “ชุดถวายแสงสว่างเข้าพรรษา”
- แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายเจ้าหยิบโอกาสนี้มาทำโปรโมชั่น CSR ร่วมกับวัดและชุมชน
- การบริจาคไฟถนน โคมไฟโซลาร์เซลล์ หรือแสงสว่างในโบสถ์ ยังเป็นแนวทางใหม่ของการทำบุญเชิงสาธารณะ
โอกาสทางการตลาด: น้อยแต่ชัด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหากเราสังเกตุจะเห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแสงสว่างในช่วงเข้าพรรษา อาจไม่ใช่ตลาดใหญ่แบบ Mass Market (ตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และหลากหลาย) แต่เป็นตลาดเฉพาะที่มีจังหวะการซื้อ–ขายชัดเจน มีการวางแผนซื้อล่วงหน้า และมีโอกาสเติบโตหากรู้จักปรับรูปแบบสินค้าให้ทันสมัย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- สินค้าแบบผสมผสาน (Hybrid Offering): เช่น ชุดเทียน+ไฟ LED พร้อมกล่องถวาย
- กลยุทธ์ B2B: โรงงานผลิตเทียนร่วมมือกับวัด หรือองค์การท้องถิ่น
- แพ็กเกจเพื่อองค์กร: ธุรกิจสามารถจัดชุดของถวายเพื่อกิจกรรม CSR พนักงาน
พฤติกรรมผู้บริโภค: เชื่อมความศรัทธาและความสะดวก
โดยกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุและคนรุ่นกลางที่ศรัทธาแรง, คนรุ่นใหม่สายรักษ์วัฒนธรรม, วัดและองค์กรที่ต้องจัดกิจกรรมเข้าพรรษา ซึ่งจะเห็นว่าทุกกลุ่มล้วนต้องการความ ‘สะดวกในการซื้อ ความชัดเจนในความหมาย และคุณค่าเชิงจิตใจ’ ซึ่งหากผู้ขายสามารถสื่อสารจุดนี้ได้ สินค้าจะไม่ใช่แค่ของถวาย แต่เป็นเครื่องหมายของการทำความดีที่คนยินดีจ่ายเพื่อส่งต่อ
ทำไมคนไทยนิยมถวาย ‘เทียนพรรษา-หลอดไฟ’ ในช่วงเข้าพรรษา?
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา หนึ่งในสิ่งของที่ได้รับความนิยมในการนำไปถวายวัด คือ เทียนพรรษา หรือในปัจจุบันคือ หลอดไฟส่องสว่าง ซึ่งถือเป็น “แสงแห่งปัญญา” ที่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าความสว่างทางกายภาพ
การถวายแสงสว่างนั้น เป็นหนึ่งในรูปแบบการทำบุญที่สืบทอดมายาวนานในวัฒนธรรมไทย มีความเชื่อว่า แสงสว่างจากเทียนหรือหลอดไฟ คือสัญลักษณ์ของปัญญา ความรู้แจ้ง และทางออกจากความมืดมัวของชีวิต การที่ผู้ศรัทธาถวายแสงแด่พระพุทธศาสนา จึงเปรียบเสมือนการสร้างกุศลที่เปิดหนทางสว่างให้กับตนเอง
ไม่เพียงแค่แสดงความเลื่อมใส หากยังมีความหมายเชิงอุปมา คือ ให้ชีวิตพบแต่สิ่งดีงาม สว่างไสวในจิตใจ พ้นจากอุปสรรคและความทุกข์ หลายคนเชื่อว่าการถวายแสงยิ่งใหญ่เช่นนี้จะส่งผลให้ตนเองพบหนทางที่ชัดเจน มีปัญญาในการดำเนินชีวิต และปลอดภัยจากภัยพาล แม้รูปแบบของแสงสว่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากเทียนเล่มใหญ่กลายเป็นหลอดไฟ LED หรือชุดโคมแสงที่ใช้ได้จริงในวัด แต่ความตั้งใจของผู้ถวายยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาไม่เปลี่ยนแปลง
ศรัทธาที่จับต้องได้ = ช่องทางเติบโต
จะเห็นว่าในฤดูกาลที่เต็มไปด้วยพิธีกรรม ความเชื่อ และการให้ เทียนพรรษาและหลอดไฟไม่ใช่แค่เครื่องประกอบพิธี แต่คือ ‘สินค้าแห่งความศรัทธา’ ที่มีศักยภาพเชิงการตลาด หากรู้จักปรับภาพลักษณ์ ปรับช่องทาง และขยายแนวคิดให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่หลายผู้ประกอบการใช้เป็นไฟส่องสว่างทางธุรกิจ สร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เทียนพรรษา–หลอดไฟ ‘แสง’ ที่จุดโอกาสให้ธุรกิจ ในฤดูกาลแห่งศรัทธา
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net