พม. เปิด 5 โครงการนำร่อง พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางมีที่อยู่ มีงานทำ
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์ทางสังคม ของกระทรวง พม. เพื่อสื่อสารในการสร้างการรับรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์ทางสังคมของกระทรวง พม. สู่การปฏิบัติ โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และภาคีเครือข่าย เข้าร่วม ที่กระทรวงพม.
นายอนุกูล กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัญหาสังคมที่หลากหลาย ซับซ้อนในหลายมิติ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นกระทรวง พม.ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานบนสิทธิพลเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การทำงานในภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนนี้จึงต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการลงทุนทรัพยากรจากภาคธุรกิจให้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นระบบ ขณะที่ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นองค์กรผู้ให้บริการทางสังคมที่ทำงานกับกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง และมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม.ได้นำรูปแบบการสร้างความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์ทางสังคมซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยกลไกความร่วมมือนั้นจะมี 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.นักลงทุน เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการในระยะแรกและเป็นผู้รับความเสี่ยง หากโครงการไม่สำเร็จ แต่จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมผลตอบแทนหากโครงการบรรลุเป้าหมาย 2.องค์กรที่ให้บริการทางสังคม เป็นผู้ดำเนินโครงการและให้บริการที่มีประสิทธิภาพและสามารถวัดผลได้ 3.องค์กรตัวกลาง ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินทุน กำกับและติดตามการดำเนินโครงการ 4.ผู้ประเมินผลเป็นหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ประเมินผลความสำเร็จของโครงการเทียบกับเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ และ 5.ผู้จ่ายเงินโดยส่วนใหญ่คือภาครัฐ จะจ่ายเงินคืนให้กับนักลงทุนพร้อมผลตอบแทนก็ต่อเมื่อผู้ประเมินผลยืนยันว่าโครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
นายอนุกูล กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการความร่วมมือฯ นั้นพม. ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคธุรกิจเอกชน และประชาสังคม ขับเคลื่อน 5 โครงการนำร่อง ดังนี้ 1. โครงการ "พัฒนาสูงวัยเสริมสร้างศักยภาพใหม่ สู่การทำงานในโลกดิจิทัล" คือพัฒนาทักษะ และส่งเสริมการจ้างแรงงานสูงวัยที่มีทักษะดิจิทัล โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 2. โครงการ “Home Hope Hub จุดเริ่มต้นของชีวิตที่ดีกว่า” คือการพัฒนาที่อยู่อาศัย และพัฒนาทักษะอาชีพคนไร้บ้านให้มีรายได้พึ่งพาตนเองได้ ไม่กลับมาเร่ร่อนซ้ำอีก โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. ร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
3. โครงการ "สถานคุ้มครอง TIP ทางเลือกเพื่ออนาคต (Alternative Shelter for Life)" เพื่อติดตามการให้ช่วยเหลือต่างๆ สำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons: TIP) ที่อยู่ในความคุ้มครองดูแลที่เป็นทางเลือก นอกเหนือจากสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กระทรวง พม. อาทิ ครอบครัว ญาติพี่น้อง และหน่วยงานภาคประชาสังคม โดยสำนักงานปลัดกระทรวง พม. ร่วมกับ องค์การ Operation Underground Railroad (O.U.R.) , มูลนิธิ International Justice Mission (IJM) และ มูลนิธิพิทักษ์สตรี (Alliance Anti Trafic: AAT)
4. โครงการ “Strong Mom, Smart Kid” พัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว และสนับสนุนให้เด็กในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม มีพัฒนาการสมวัย โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. ร่วมกับ บริษัท ส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม จำกัด และ 5. โครงการ “PA Starter : เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ช่วยคนพิการ” เพื่อให้ผู้ช่วยคนพิการ (Personal Assistant: PA) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวง พม. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต.