เฝ้าระวัง "ไข้หวัดนกกัมพูชา" สายพันธุ์รุนแรง ย้ำ! ไทยเสี่ยงระดับต่ำ
สคร.9 นครราชสีมา แจ้งเตือนประชาชนว่า ตามที่ พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ถึงสถานการณ์ทั่วโลกในคนและสัตว์ ตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 ม.ค.-27 พ.ค.2568 มีผู้ป่วยสะสมจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) จำนวน 976 ราย ผู้เสียชีวิต 470 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 48.2 เปอร์เซ็นต์
กัมพูชารายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายที่ 7 ของปี
รายแรกในรอบ 3 ปี! อังกฤษพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 สธ.ย้ำไทยยังเสี่ยงต่ำ
สำหรับประเทศไทยมีความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย รับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายจำนวนมาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่
สถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศกัมพูชาว่า ในปี 2568 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกจำนวน 9 ราย เสียชีวิต 6 ราย คิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ โดยรายล่าสุดได้รับรายงานเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2568 เป็นผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเสียมราฐ เป็นหญิง อายุ 41 ปีมีประวัติสัมผัสไก่ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุและนำมาประกอบอาหาร มีอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก นอกจากนี้ยังพบว่าลูกของหญิงรายดังกล่าวก็มีอาการป่วยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สายพันธุ์ไข้หวัดนกที่พบในกัมพูชา เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงสูง จัดอยู่ในกลุ่ม Clade 2.3.2.1e เป็นสายพันธุ์ที่พบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม และลาว ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็น Clade2.3.4.4b ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั้งในคน สัตว์ และสัตว์ป่า รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งมีการตรวจสุขภาพสัตว์ปีก และเฝ้าระวังฟาร์มสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง
สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ระบาดนั้น ให้ติดตามข่าวสารในพื้นที่ที่จะเดินทางไป ทำประกันสุขภาพสำหรับการเดินทาง รักษาสุขอนามัยส่วนตัว กรณีที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของไข้หวัดนก เช่น กัมพูชา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อินเดีย แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน เวียดนาม ไต้หวัน บราซิล ให้สังเกตอาการตนเอง ภายใน 2 สัปดาห์ หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง ไอ เจ็บคอ ให้พบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย รับประทานอาหารสุก โดยเฉพาะสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายจำนวนมาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422