การสร้างสังคมสูงวัยที่ยั่งยืนบนฐานระบบนิเวศคุณธรรม
ในขณะที่สภาพสังคมปัจจุบันในประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ส่งผลต่อการบริหารจัดการประเทศในภาพรวม การกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาล การบริหารงบประมาณแผ่นดิน ฯลฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ฯลฯ
แนวทางหนึ่งที่ผมเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การสร้างระบบนิเวศคุณธรรม เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ
ระบบนิเวศคุณธรรม ในความหมายของผม หมายถึง ระบบนิเวศที่นำแนวคิดหลักจริยธรรมหรือคุณธรรมมาบูรณาการกับระบบนิเวศทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสมดุลและความยั่งยืนในทุกมิติของสังคม โดยเน้นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างมีจริยธรรม ซึ่งต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1) ระบบนิเวศคุณธรรมต้องมีความสัมพันธ์กับ 4 ระบอบ ได้แก่ (1) ระบอบมนุษย์ ประกอบด้วย กาย (Body) ใจ (Soul) = ความคิด การตัดสินใจ อารมณ์ และจิต (Spirit) = จิตวิญญาณ (2) ระบอบชุมชน ที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนในระดับต่าง ๆ ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน องค์การ สังคม ประเทศ (3) ระบอบธรรมชาติ เการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ และ (4) ระบอบเทวะ/ระบอบธรรมะ ความสัมพันธ์ทางจิตภาพระหว่างมนุษย์กับหลักธรรมะสูงสุดที่ยึดถือว่าเป็นความดีแท้
2) ระบบนิเวศคุณธรรม ต้องยึดหลักปรัชญาอารยะ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1)ปรัชญาปัจเจกอารยะ ที่ความดีแท้ ความงามแท้ และความจริงแท้ เป็นตัวกำกับระดับปัจเจกบุคคล และ (2) ปรัชญาสังคมอารยะ ที่เกิดจาก เสรีภาพที่พึงประสงค์ เสมอภาคที่พึงประสงค์ ภราดรภาพที่พึงประสงค์ เป็นตัวกำกับระดับสังคม
3) ระบบนิเวศคุณธรรม ต้องยึดหลักธรรมะสากล 10 ประการประกอบด้วย (1) มนุษยธรรมนิยม (2) มนุษยนิยม (3) เสรีธรรมนิยม (4) สิทธิเสมอหน้าที่นิยม (5) ยุติธรรมนิยม (6) ภราดรธรรมนิยม (7) สามัคคีธรรมนิยม (8) สันติธรรมนิยม (9) อภัยธรรมนิยม และ (10) สิ่งแวดล้อมนิยม
4) การสร้างระบบนิเวศคุณธรรมจำเป็นต้องมีไตรอารยสภาพการสร้างระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องแก้ไขให้ครบทั้งคน ระบบ และบริบท จึงจะสร้างระบบที่สำเร็จและยั่งยืนได้ โดยต้องมี 1) คนคุณธรรม คือ คนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว 2) ระบบคุณธรรม คือ ระบบที่ช่วยส่งเสริมให้คนมีคุณธรรม ซึ่งระบบที่ดีจะทำให้คนชั่วทำดีโดยไม่รู้ตัว ในณะที่ระบบที่ชั่วจะทำให้คนดีทำชั่วโดยไม่รู้ตัว และ 3) บริบทคุณธรรม คือ บริบทที่ประกอบไปด้วยกาละ (เวลา) และเทศะ (สถานที่) ที่ทำให้คนดี ระบบดี
แนวทางภาคปฏิบัติในการสร้างระบบนิเวศคุณธรรมเพื่อสังคมสูงวัยที่ยั่งยืน มีดังต่อไปนี้
แนวทางสร้างคนคุณธรรมได้แก่(1) เผยแพร่นิยาม คนดี คือ คนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว (2) สร้างสังคมการอยู่ร่วมกันแบบทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (3) สร้างสังคมพึ่งพิงอิงกัน คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างวัย (4) สร้างการรู้เท่าทันความยืนยาว สร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีจริยธรรม เป็นต้น
แนวทางสร้างระบบคุณธรรมได้แก่ (1) มีระบบ “สร้างคนดี” ในสังคม โดยส่งเสริมการสร้างไอดอลของสังคม ด้วยโมเดลบ้านสามหลัง บ้านหลังที่ 1 คือ พ่อ แม่ บ้านหลังที่ 2 คือ ครู อาจารย์ เจ้านายที่ทำงาน และบ้านหลังที่ 3 คือ ผู้นำกายภาพผู้นำจิตภาพ (2) จัดตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมการทำงานคุณธรรมเพื่อสังคม โดยเฉพาะในบริบทของสังคมสูงวัยและการพัฒนาที่ยั่งยืน (3) ออกแบบระบบให้อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ปฏิบัติต่อกันอย่าง เหมาะสม บนฐานธรรมะสากลกำกับ (4) สร้างระบบเครดิตคุณธรรม (Virtue Credit System) ผ่านการส่งเสริมและจูงใจให้คนทำความดีในหลายลักษณะ และ (5) สร้าง Aeneas Contract คือ สัญญาสังคมข้ามรุ่นรูปแบบใหม่ เป็นพันธะรับผิดชอบร่วมกันระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
แนวทางสร้างบริบทคุณธรรมได้แก่(1)กำหนดวิสัยทัศน์แห่งชาติ“สังคมที่ให้คุณค่าความดี” (2) สร้างระบบทุนนิยมที่มีคุณธรรม (Virtus Capitalism) (3) สร้างความรับผิดรับชอบต่อสังคมของทุกหน่วยเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างอุดมการณ์การประกอบการเพื่อปวงประชา ใช้นวัตกรรมในการแก้ปัญหา อุทิศผลกำไรเพื่อสังคม เป็นต้น
การวางแผนเพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่ยั่งยืนบนฐานระบบนิเวศคุณธรรมตั้งแต่วันนี้ จะทำให้อนาคตเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ผู้สูงวัยจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกับคนทุกวัยได้อย่างมีความสุขด้วยการพึ่งพาอาศัยกันมิใช่เป็นภาระหนักระหว่างกัน
บทความ คอลัมน์ พิจารณ์นโยบายสาธารณะ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล