ชายแดนสุรินทร์ ปะทะหนักกว่าทุกวัน
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 29 กรกฎาคม 2568 เวลา 2.25 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทสุรินทร์ 28 ก.ค. – เข้าสู่วันที่ 5 แนวชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ จ.สุรินทร์ ยังคงปะทะกันอย่างหนัก ขณะที่ผู้ว่าฯ สุรินทร์ ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน จากการกระทำของกองกำลังนอกประเทศ เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
ชาวบ้านบริเวณโดยรอบมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน ในตัวเมืองสุรินทร์ ทยอยกลับเข้าพื้นที่ในช่วงเช้าวันนี้ หลังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า แก้ไขสถานการณ์ได้แล้ว กรณีตกเป็น 1 ในเป้าหมายของฝ่ายกัมพูชา เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังไม่กลับเข้าพื้นที่ทำให้ร้านค้าต่างๆ บางส่วนยังปิดให้บริการ และประชาชนในหอพักหลายแห่ง ก็ยังไม่กลับมา ทำให้บรรยากาศในซอยที่เคยพลุกพล่าน ต้องเงียบเหงาลงอย่างมาก การข่าวเดียวกันนี้ ยังทำให้โรงพยาบาลสุรินทร์ ต้องแจ้งปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการในวันนี้ แต่ล่าสุดประกาศกลับมาเปิดตามปกติในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ค.)
สำหรับสถานการณ์การปะทะตามแนวชายแดนด้านจังหวัดสุรินทร์ วันนี้หนักกว่าทุกวัน ทางด้านปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก และด้านจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง โดยเฉพาะด้านอำเภอพนมดงรัก ที่กัมพูชาหมายยึด เข้าครอบครองทั้ง 2 ปราสาท มีการเปิดฉากยิงตั้งแต่ตี 3 เรื่อยมาจนถึงช่วงเย็น ไม่มีช่วงที่หยุดพักนาน ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า กัมพูชาอาจหวังใช้โมเดลปี 2554 ที่หลังเจรจากองกำลังฝ่ายไหนหยุดอยู่ที่จุดใด ให้อยู่ที่จุดนั้น
ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 แถลงว่า ยังพบความเคลื่อนไหวระบบขีปนาวุธ PHL-03 ในพื้นที่สนามบินสำโรง จ.อุดรมีชัย ฝ่ายกัมพูชามีแนวโน้ม ใช้อาวุธยิงระยะไกลในพื้นที่ทางลึก การปะทะยังคงรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ช่องอานม้า จังหวัดอุบลราชธานี, ภูผี, ภูมะเขือ จังหวัดศรีสะเกษ และปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย จังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งต้องเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ และการแทรกซึมของสายลับจากกัมพูชา
ขณะที่นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ประกาศให้ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนมดงรัก กาบเชิง ปราสาท สังขะ บัวเชด เมืองสุรินทร์ ศรีณรงค์ และลำดวน เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย อันเนื่องมาจากการกระทำของกองกำลังจากนอกประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง
ส่วนบรรยากาศตามศูนย์พักพิงชั่วคราว หลายคนมีภาวะความเครียดสูง ทั้งจากสถานการณ์ และสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ห่างไกลบ้าน ยายวัย 95 ปี เคี่ยวเข็ญให้ลูกหลานส่งกลับบ้าน เพราะคิดถึงบ้าน ห่วงสัตว์เลี้ยง แต่สถานการณ์ยังสุ่มเสี่ยง ลูกหลานจึงทำอย่างนั้นไม่ได้.-สำนักข่าวไทย