กรมชลประทาน ร่วมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า จ.สุโขทัย เร่งบูรณาการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน จากอิทธิพลพายุ “วิภา”
กรมชลประทาน ร่วมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า จ.สุโขทัย เร่งบูรณาการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน จากอิทธิพลพายุ “วิภา”
เมื่อวันที่26 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิด “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว)” เพื่อบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม–น่าน ณ ห้องประชุมศรีนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมทั้งแบบเข้าร่วมประชุม ณ สถานที่จริงและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามสถานการณ์และตัดสินใจอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำหลากจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา” ที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ อาทิ น่าน แพร่ พะเยา และลำปาง ส่งผลให้มีมวลน้ำหลากไหลลงสู่แม่น้ำยม ผ่านจังหวัดแพร่และเข้าสู่พื้นที่ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นจุดรับน้ำสำคัญของลุ่มน้ำยม
การประชุมเปิดศูนย์ฯ มีผู้แทนจากหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักด้านการปฏิบัติในพื้นที่ นำโดย นายสมจิตฐิพงศ์ อำนาจศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 พร้อมด้วย นายบุญธรรม ปานเปี่ยมโภชนา รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4, นายชวลิต สุราราช ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา และนายทวีสิทธิ์ เลิศสินไทย ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน ร่วมกับผู้แทนจากจังหวัดในลุ่มน้ำยม–น่าน ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ เพื่อร่วมวางแผนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้ระบบประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ควบคู่กันไป เพื่อรองรับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนแม้อยู่ต่างพื้นที่
สถานการณ์ล่าสุด กรมชลประทานเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณสถานีวัดน้ำ Y.14B อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย พบว่าอัตราการไหลผ่านอัตรามากกว่า 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เริ่มมีผลกระทบพื้นที่หลายจุด มีการประชุมร่วมกับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยการลดการระบายของเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อยลง คาดการณ์สถานการณ์น้ำในเขตสุโขทัย จะคลี่คลายลงใช้เวลา 3-5 วัน และแนวโน้มสถานการณ์สู่สภาวะปกติภายใน 10-14 วัน ถ้าไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยการพร่องน้ำในพื้นที่รับน้ำตอนล่าง การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และสนับสนุนเครื่องจักรกลในจุดเสี่ยงสำคัญ เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ซึ่งใช้เป็นแหล่งหน่วงน้ำหลักในฤดูฝน ก็มีการดำเนินการตามแผน “บางระกำโมเดล” อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีการขยายพื้นที่จาก 265,000 ไร่ เป็น 327,000 ไร่ ครอบคลุม จ.พิษณุโลก และสุโขทัย ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ประมาณ 91,000 ไร่ กว่า 29% และคาดว่าจะแล้วเสร็จเต็มพื้นที่ภายในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับน้ำหลากได้สูงสุดถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการกลางในการติดตาม ประเมิน และสั่งการการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำให้เป็นเอกภาพ.