‘การเงิน-ทุจริต-คอร์รัปชันการเมือง’ คนไทยกังวลมากสุดนำโด่งโลก
“อิปซอสส์(Ipsos) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค เปิดรายงานชุด "What Worries Thailand H1 2025" นำเสนอ 5 อันดับ “ความกังวลใจสูงสุด” ของคนไทยในครึ่งแรกของปี 2568
“การเงิน-การทุจริต คอร์รัปชันการเมือง” เป็นสิ่งที่คนไทยกังวลมากสุดอันดับ 1 แซงหน้าโลก ส่วนมุมมองเศรษฐกิจ ปากท้อง การจับจ่ายใช้สอย กังวลในการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ไปจนถึงชิ้นเล็ก และ 6 เดือนข้างหน้า ยังห่วง “ค่าครองชีพพุ่ง”
คนไทยกังวลการเงิน การทุจริต คอร์รัปชันการเมืองแซงโลก
อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ และ พิมพ์ทัย สุวรรณศุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมนำเสนอผลการศึกษา 5 อันดับความกังวลใจสูงสุด” ช่วงครึ่งปีแรก 2568 ของชาวไทย หรือ What worries Thailand H1 2025 เป็นดังนี้
อันดับ 1 คือกังวลด้านการเงินและการทุจริต คอร์รัปชันทางการเมือง (Financial / Political corruption) 45% ตามด้วยอันดับ 2 คือความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม (Poverty & Social inequality) 37% อันดับ 3 คือปัญหาการว่างงาน (Unemployment) 31% อันดับ 4 ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) 24% และอันดับ 5 กังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมและความรุนแรง (Crime & Violence) 22%
เมื่อเทียบกับโลกสิ่งที่ผู้คนกังวลมากสุด อันดับ 1 คือ ภาวะเงินเฟ้อ 32% ตามด้วยอาชญากรรมและความรุนแรง 31% การว่างงาาน 29% ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม 28% และการเงินและการทุจริตทางการเมือง 24%
มองเศรษฐกิจแย่ลง ต้องรัดเข็ดขัด ลังเลใช้จ่าย
ด้านมุมมองด้านเศรษฐกิจของคนไทย พบว่ามีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจน “ความลังเลมากขึ้น” ในการซื้อสินค้าหรือของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งใช้เวลาในการตัดสินใจสูง(High involvement) ทว่า การซื้อของใช้ในบ้านทั่วไปที่เป็นข้าวของชิ้นเล็กก็กังวลไม่แพ้กัน
เจาะลึกผลสำรวจ 65% ของคนไทยมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันย่ำแย่ลง และเป็นอัตรากังวลใจเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่ก่อน ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำยังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
จากความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าว ทำให้คนไทยมีความลังเลในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้ายิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์ 53% เพิ่มขึ้น 6% เทียบปีก่อน และ 46% ของคนไทยรู้สึกไม่สบายใจในการซื้อของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ เพิ่มขึ้นถึง 10% จากปีก่อน
“คนไทยที่รู้สึกไม่สบายใจที่จะซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ประเภทบ้าน รถยนต์ ความกังวลยังขยายไปถึงการซื้อของใช้ในบ้านทั่วไปด้วย”
ห่วงค่าครองชีพพุ่ง จากดอกเบี้ยสูง นโยบายรัฐ ธุรกิจค้ากำไรเกินควร
นอกจากนี้ การสำรวจยังถามถึง“ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน” ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งผู้บริโภคห่วงค่าครองชีพเพิ่ม จากคาดการณ์ค่าใช้จ่ายที่จะขยับขึ้นในสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละประเภท เป็นดังนี้
-69% ค่าสาธารณูปโภค เพิ่มขึ้น 10%
-66% ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ เพิ่มขึ้น 7%
-66% ใช้จ่ายด้านอาหาร เพิ่มขึ้น5%
-62% ค่าใช้จ่ายในการซื้อของใช้ในบ้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น 1%
-44% ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์ เพิ่มขึ้น 3%
-38% ค่าที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้น2%
-34% ค่าสมาชิกต่างๆ เพิ่มขึ้น 3%
อย่างไรก็ตาม ถามถึงสาเหตุของค่าครองชีพพุ่ง ผู้บริโภคชาวไทยชี้ชัดเพราะ“ดอกเบี้ยสูง” โดย 81% เพิ่มขึ้น 4% บอกว่าเกิดจากระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ 81% เพิ่มขึ้น 4% เช่นกันมองว่าเกิดจากนโยบายของรัฐบาล 81% เพิ่มขึ้น 5% มองว่ามาจากสภาวะเศรษฐกิจโลก 79% เพิ่มขึ้น 4% ให้เหตุผลว่าแรงงานเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และ77% เพิ่มขึ้น 3% บอกว่าเกิดจากธุรกิจต่างๆ มุ่งทำกำไรมากเกินไป
หวั่นตกงาน! ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ค่าครองชีพในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มแล้ว คนไทยเกือบ 30% ยังกังวล “ตกงาน” ในอนาคต 6 เดือนข้างหน้าด้วย
เมื่อความมั่นคงในการจ้างงานเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนไทย เจาะลึกผลสำรวจ พบว่าเกือบ 6 ใน 10 คน หรือ 59% ให้ความเห็นว่า “รู้จักคนเพิ่งตกงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา” แม้จะลดลง 2% จากปีที่แล้วก็ตาม แต่เกือบ 1 ใน 3 ของคนไทย หรือ 28% ก็แสดงความกังวลว่าตนเองอาจประสบปัญหาการตกงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า
“ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงในงานกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 48% มีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความมั่นคงในงานของตนเอง ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 12% จากปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น 54% ของคนไทยมีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณอายุหรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า”
หวังสถานะการเงินส่วนตัวดีขึ้น แต่อัตราลดลงจากปีก่อน
คนไทยกำลังถูกปัจจัยลบล้อมไว้หมดแล้ว แต่ชีวิตไม่สิ้นหวัง เพราะคนไทยยังมีความหวัง คาดการณ์สถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดย 37% ของคนไทยคาดการณ์ว่าสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้น แต่ตัวเลขดังกล่าว “ลดลงถึง 17%” จากปีที่แล้ว
เมื่อความหวังสถานะการเงินดีขึ้น แบ่งตามกลุ่มรายได้ได้ พบว่าน่าสนใจดังนี้
-กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูง 41% หวังหวังฐานะการเงินดีขึ้น แต่อัตราลดลง 9% จากปีก่อน
-กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง 37% หวังหวังฐานะการเงินดีขึ้น แต่อัตราลดลง 13% จากปีก่อน
-กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย: 24% หวังหวังฐานะการเงินดีขึ้น แต่อัตราลดลง 31% จากปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า “กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย รายได้เปราะบาง ห่วงรสถานะการเงินของตัวเองลดลงอย่างมาก” ซึ่งสอดคล้องกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ฉุดเงินในกระเป๋า หรือแม้แต่หวั่นตกในงานอนาคต ที่กระทบฐานะการเงินส่วนบุคคลนั่นเอง
ประเทศเดินผิดทาง มีวิกฤติ-ถดถอย ถามหา “ผู้นำ” กล้าหาญ
นอกจากนี้ ผลสำวจยังพบว่าคนไทย 56% มอง “ประเทศกำลังมาผิดทาง” เพิ่มขึ้น 13% จากปีที่แล้ว อีกทั้ง 66% เชื่อว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ใน "ภาวะวิกฤติ" และ 60% มองว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะ “ถดถอย” ซึ่งสะท้อนผ่าน ดัชนีชี้วัดสังคมวิกฤตของอิปซอสส์ (Ipsos Society is Broken Index) ด้วยสัดส่วนของประเทศไทยที่สูงถึง 77% เป็นอัตราสูงสุดจาก 31 ประเทศที่ทำการสำรวจ เปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 61%
อุษณา จันทร์กล่ำ
“ผลสำรวจพบว่า 79% ของคนไทยเรียกร้องหาผู้นำที่กล้าหาญพอจะแหกกฎเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น 77% ยังสนับสนุนผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อทวงคืนประเทศจากกลุ่มคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดจากผู้นำทางการเมือง”
สำหรับผลการสำรวจชุดนี้มาจากการรวบรวมข้อมูลจากผลสำรวจหลายฉบับของอิปซอสส์ เช่น What Worries the World June 2025 สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 24,737 คน อายุ 16-74 ปี ใน 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 9 พฤษภาคม 2568 และ Ipsos Populism Report 2025 สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 23,228 คน อายุ 16-74 ปี ใน 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม 2568 เป็นต้น