แพลตฟอร์ม “Burn Tracking”ใช้ “Space Tech”ช่วยลด PM 2.5
ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่องในทุกปี จนผลสำรวจของรายๆหน่วยงานออกมาว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้เร็วที่สุด!!
เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในหลายๆพื้นที่ แต่สาเหตุหนึ่งของปัญหาาฝุ่น PM 2.5 ก็มาจากภาพการเกษตร มีการเผาป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก หนึ่งในนั้นก็คือ การเผาไร่อ้อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย เผื่อทำให้อ้อยแห้งและตัดได้ง่ายขึ้น แต่ก็ส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศ ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้มาก
อย่างไรก็ตามหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญญา หนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยื่น วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” จะมาบอกเล่าถึงการนำเอาเทคโนโลยีอวกาศ หรือ “Space Tech” มาช่วยในเรื่องนี้ โดยเป็นความร่วมมือกันของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และ สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจากระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เพื่อการส่งเสริมสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดฝุ่น PM 2.5
“ใบน้อย สุวรรณชาตรี” เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) บอกว่า ในปี 67 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 184,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2568 ณ เดือนพ.คเพียงครึ่งปี สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไปแล้วมากกว่า 92,500 ล้านบาทโดยประเทศไทย มีสัดส่วนการผลิตน้ำตาลโลก อยู่ที่ 5% ถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 5 รองจากบราซิล อินเดีย สหภาพยุโรป และจีน และมีสัดส่วนในการส่งออกน้ำตาลโลกอยู่ที่ 9% เป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล สูงกว่าอินเดียในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่แข็งแรงของไทย ที่มีบทบาทที่สำคัญต่อตลาดน้ำตาลของโลก
การดำเนินงานที่สำคัญในปี 68 ทาง สอน. จะ มุ่งเน้นในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ทันสมัยสะอาด สะดวกโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2567/2568 ใน 6 มาตรการ ซึ่ง 1 ใน 6 มาตรการ คือ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาใช้เทคโนโลยีติดตามการเผาและร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อยด้วยดาวเทียม ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Burn Tracking ร่วมกับไทยคม
ทั้งนี้จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว สามารถลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบสูงสุดที่ 85% หรือ 78.3 ล้านตัน ปริมาณเผาอ้อยเข้าหีบเพียง 15% หรือ 13.68 ล้านตัน ลดลงจากฤดูการผลิตปี 2566/2567 ที่มีปริมาณการเผาอ้อยเข้าหีบทั้งฤดูกาลผลิตกว่า 29% หรือ 24 ล้านตัน ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 10 ล้านตัน เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM 2.5 ลงได้กว่า 5,000 ตัน/ปี ซึ่งต่ำกว่าเป็นประวัติการณ์ การนำแพลตฟอร์มดังดล่าวมา ผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI จะช่วยเดินหน้าในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM 2.5 อย่างครอบคลุม
“ในปีงบประมาณ 2569 ยังมีแผนงาน เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรชาวไร่อ้อยน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นไบโอฮับ ออฟอาเซียน ภายในปี 2570 พัฒนาพลาสติกชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM 2.5 สร้างเครือข่าย Center of BioExcellent รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตผลอ้อยประสิทธิภาพน้ำตาลทราย สร้างนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ” ใบน้อย สุวรรณชาตรี ระบุ
อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยคม ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับ Space Tech นั้น “ปฐมภพ สุวรรณศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม อธิบายว่า แพลตฟอร์มนี้เรียกอีกอย่างว่า “Burn Tracking” เป็นระบบวิเคราะห์เพื่อติดตามการเผาและร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียม โดยจะแสดงผลการวิเคราะห์ภาพรวมของการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อยในรูปแบบ Dashboard เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อย ผลผลิตอ้อย การคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าโรงงาน รวมถึงจุดความร้อนและพื้นที่ที่มีร่องรอยการเผาไหม้ โดยนำเสนอในรูปแบบแผนที่เชิงพื้นที่ อำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการนำข้อมูลผลการวิเคราะห์ไปใช้งาน โดยสามารถส่งออกข้อมูลได้ทั้งในรูปแบบไฟล์ PDF และ CSV สามารถรับข้อมูลข่าวสาร พูดคุยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ และรับการแจ้งเตือนจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อยได้อย่างสะดวก ผ่าน Line Official Account ด้วยสำหรับแพลตฟอร์มที่ได้ร่วมกันพัฒนาได้มีฟังก์ชั่นการใช้งาน ประกอบด้วย
DASHBOARD : การวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อย โดยมีการแสดงข้อมูลทั้งภาพรวมของพื้นที่โครงการและการแสดงผลข้อมูลรายภาค ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพื้นที่ปลูกอ้อย, แสดงผลผลิตอ้อย, แสดงการคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบ, แสดงพื้นที่ปลูกอ้อยซ้ำ, แสดงจุดความร้อน, แสดงพื้นที่เผาไหม้ซาก
MAP : การแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบของแผนที่แสดงข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อยผลผลิตอ้อย และการคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบ โดยมีการนำเสนอข้อมูลตั้งแต่ระดับภาพรวมของโครงการ รายจังหวัด ไปจนถึงระดับตำบล พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลในจุดที่สนใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
Mini Dashboard : สามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล พร้อมทั้งแสดงผลข้อมูลผ่านแผนที่เชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สามารถเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ระบบสามารถแสดงข้อมูลจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อย รวมถึงพื้นที่ที่มีร่องรอยการเผาไหม้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย โดยมีการแสดงผลในรูปแบบแผนที่ พร้อมการนำเสนอข้อมูลตั้งแต่ระดับภาพรวมของโครงการ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับตำบล ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถเลือกแสดงข้อมูลตามช่วงเวลา ได้แก่ รายวัน รายสัปดาห์ รายปี หรือกำหนดช่วงเวลาที่สนใจได้ตามต้องการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนและบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด
MAP EXPORT : สามารถเลือกเฉพาะข้อมูลพื้นที่ที่สนใจ และเฉพาะข้อมูลที่สนใจ แล้วนำข้อมูลออกไปใช้งานในรูปแบบของแผนที่ ไฟล์ PDF และ CSV ได้
BURNTRACKING Line Official Account เจ้าหน้าที่สามารถรับข่าวสารการแจ้งเตือนการเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ รวมไปถึงพูดคุยปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับอ้อยผ่าน Line Official Account
ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนนำเทคโนโลยีมาช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ให้ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คืนสภาพ
สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่สดใสให้กับคนไทย.
Cyber Daily