ดับฝันดัน“บิ๊กป้อม”ชิงนายกฯ ชี้ พปชร. มี สส.ไม่ถึงเกณฑ์ตาม รธน.
วันที่ 7 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อาจจะเสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยึดจำนวนเสียงของ สส. ตามที่เคยได้สส.มาครั้งแรกว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มี สส.ในปัจจุบันเพียง 19 คน ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
เลขาธิการสภาฯ อธิบายว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 159 ระบุชัดว่า การเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี จำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งในกรณีที่สมาชิกสภามีครบ 500 คน เท่ากับว่า พรรคการเมืองต้องมี อย่างน้อย 25 คน ถึงจะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้
อย่างไรก็ดี แม้ในรอบการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐจะเคยมี สส.เกิน 25 คน แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้จำนวน ส.ส. "ในวันโหวตจริง" เป็นเกณฑ์ตัดสิน ไม่ใช่จำนวนเดิม หรือ จำนวนตามที่ได้รับการเลือกตั้งในวันแรก
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ต้องได้รับเสียงรับรองจากสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวน สส. ทั้งหมด และต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งในการลงมติแบบเปิดเผย
ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 495 คน (ยังไม่ครบ 500 คน) ดังนั้นพรรคการเมืองที่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ต้องมี อย่างน้อย 25 สส.ขึ้นไป
จากการตรวจสอบ พบว่า พรรคที่มี สส.เกินเกณฑ์ 25 คน ประกอบด้วย
พรรคเพื่อไทย 142 คน
พรรคภูมิใจไทย 69 คน
พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน
พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ มี สส.อยู่เพียง 19 คน ซึ่ง ไม่เข้าเกณฑ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ พรรคประชาชน แม้จะมี ส.ส.เพียงพอ แต่ผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว