ดาวโจนส์ปิดบวก 88.14 จุด นักลงทุนจับตาภาษีทรัมป์-ข้อมูลเศรษฐกิจ
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันจันทร์ (14 ก.ค. 68) โดยการซื้อขายเป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งล่าสุด ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 44,459.65 จุด เพิ่มขึ้น 88.14 จุด หรือ +0.20%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 6,268.56 จุด เพิ่มขึ้น 8.81 จุด หรือ +0.14% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 20,640.33 จุด เพิ่มขึ้น 54.80 จุด หรือ +0.27%
ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโก ในอัตรา 30% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. โดยขณะนี้ถือเป็นการนับถอยหลังสำหรับการทำข้อตกลงการค้าในนาทีสุดท้าย
ส่วน EU ได้ขยายเวลาการระงับมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ออกไปจนถึงต้นเดือนส.ค. โดยยังคงคาดหวังว่าจะมีการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทการค้า ขณะที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า การเจรจากับ EU แคนาดา และเม็กซิโก ยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า แม้จะมีข่าวการเรียกเก็บภาษีศุลกากรออกมาเป็นระลอก แต่นักลงทุนมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยต่อข่าวดังกล่าว เนื่องจากเริ่มปรับตัวกับการที่ทรัมป์เรียกเก็บขึ้นภาษีและมักจะกลับลำในนาทีสุดท้าย
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินผลกระทบของมาตรการต่าง ๆ ของทรัมป์ที่จะมีต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยข้อมูลดังกล่าวรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนมิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ประจำเดือนมิ.ย.ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ จะปรับตัวขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนพ.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูรายงานผลประกอบการของบริษัทจะทะเบียนในสัปดาห์นี้ ไม่ว่าจะเป็นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ,เจพีมอร์แกน (JPMorgan) และเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)