เรื่องหมู ที่ไม่หมู! เปิดดีลหมูสหรัฐฯ โอกาสหรือหายนะ? ผู้เลี้ยงไทยผวา เตือนวงการปศุสัตว์เสี่ยงตายทั้งระบบ
แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ มีความความพยายามเสนอผ่านผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ในการกดดันประเทศไทยและอีกหลายประเทศ ให้ยอมรับซื้อเนื้อหมูและชิ้นส่วนหมูแปรรูป
อย่างช่วงปี 2560 ก็เป็นหนึ่งใน “ประเด็นร้อน” และมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรไทยออกมารวมตัวแสดงจุดยืนต่อต้านมาโดยตลอด
กระทั่งนำมาสู่ ความกังวลถึงประเด็นการเรียกร้องของภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น หมู เพื่อแลกกับเงื่อนไขการลดภาษีการค้า กำลังเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรของไทย
วันนี้ “เรื่องหมูๆ” อาจไม่หมู อย่างที่คิด หากไทยแลกดีลเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ใครได้ -ใครเสีย?
“TFG” ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่หวั่นไทยเปิดตลาดนำเข้าหมูสหรัฐฯ กระทบ Supply Chain ลามถึงเกษตร
เพชร นันทวิสัย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป หรือ TFG ผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกและสุกรรายใหญ่ในไทยและเวียดนาม ได้ให้สัมภาษณ์ให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การเปิดตลาดนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ Supply Chain ของผู้ผลิตสุกรในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
“ไม่ใช่แค่ผู้เลี้ยงสุกรเท่านั้น จะกระทบต่อเกษตรกรไทย ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ อีกจำนวนมาก รวมถึงผู้ผลิตวัตถุดิบการเกษตรอื่นๆ เช่น ปลายข้าว มันสำปะหลังที่ใช้เป็นอาหารสัตว์”
อีกทั้งสหรัฐฯ ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หากมีการนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ เข้ามา
ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสุขอนามัยของผู้บริโภคในประเทศอีกด้วย
” ถ้าเปิดตลาดนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ ผลกระทบจะรุนแรงมาก เพราะสหรัฐฯ อาจผลิตได้ดีและถูกกว่าเรา ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำกว่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงของเขาถูกกว่าเราเกือบครึ่งหนึ่ง” เพชรกล่าว
แนะทางออกที่ยั่งยืน “เน้นนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์”
ในทางกลับกัน หากมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อช่วยในการเจรจากับสหรัฐฯ มองว่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์
น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด ซึ่งไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว
โดยผลิตได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการสูงถึง 8-9 ล้านตันต่อปี
อีกทั้งกากถั่วเหลืองซึ่งปัจจุบันไทยผลิตอาหารสัตว์รวมประมาณ 20 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ใช้กากถั่วเหลือง เป็นส่วนผสมหลักถึง 30% หรือประมาณ 6-7 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันไทยมีการนำเข้าจากอเมริกาใต้อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ การนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้จะช่วย ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทย ทำให้สินค้าปศุสัตว์ของไทย เช่น สุกรและไก่ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น และการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ยังสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย จะส่งผลกระทบวงกว้างต่อภาคเกษตรไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 ข้อเสนอที่ขุนคลังสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทย เผยเบื้องหลังกุนซือทีมไทยแลนด์ อัปเดตประเทศไหนเจรจาไปแล้วบ้าง?
- หมูไทยแพ้สหรัฐฯ ทุกทาง KResearch เตือน อาจเสียหายกว่า 112,330 ล้านบาท หากไทยเปิดทางให้หมูสหรัฐฯ ตีตลาด
- สหรัฐฯ เตรียมปรับภาษีตอบโต้ SCB EIC แนะจับตา 5 ความเสี่ยงใหญ่ เขย่าเศรษฐกิจไทย ดันส่งออก-เกษตรสั่นคลอน
- ไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? วิกฤตขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อบุญเก่าหมด คนเก่งสมองไหล การเมืองไร้เสถียรภาพ
ประธาน สรท.กังวล Worst Case ทุบส่งออกสูญ 9 แสนล้านบาท
ด้านธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ก่อนที่มาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ สหรัฐฯ ได้เร่งนำเข้าสินค้าจากไทยไปล่วงหน้าค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมรับมือของผู้ประกอบการนำเข้าของสหรัฐฯ เอง
ประเด็นสำคัญที่น่ากังวลคืออัตราภาษีที่ไทยจะถูกเรียกเก็บนั้นสูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยตรงอย่างเวียดนามและมาเลเซียมาก ซึ่งผู้ผลิตของประเทศไทยที่ค่อนข้างมีโปรดักต์ไลน์ใกล้เคียงกับประเทศไทยก็คือมาเลเซียกับเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้เรทที่ประเทศเราถึง 10-12% และ 16% ซึ่งก็ถือว่าสูงมาก
โดยสรท. ได้เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาเจรจาอัตราภาษีให้ใกล้เคียงกับเวียดนามที่ 20% เนื่องจากหากไทยต้องเสียภาษีสูงถึง 36% จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงอย่างมาก และผู้ประกอบการสหรัฐฯ อาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทน
โอกาสในการเจรจาต่อรองของไทย
ธนากรมองว่าการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงแค่การยอมรับข้อเสนอเท่านั้น แต่เป็นการใช้กลยุทธ์เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างด้านดุลการค้าและพฤติกรรมการส่งออกสินค้า Transhipment ระหว่างไทยกับเวียดนาม
“เราต้องแลกให้มากที่สุดเพื่อให้เรตภาษีเราใกล้เคียงกับเวียดนาม แต่ถึงขั้นทั้งหมดหรือเปล่านั้น อันนี้ผมว่ามันเป็น Art Of Negotiation ซึ่งหมายถึงการที่ทีมเจรจาของไทยจะต้องใช้ข้อมูลและข้อได้เปรียบที่เรามีอยู่ เพื่อต่อรองให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด ไม่ใช่การยอมรับข้อเสนอทั้งหมด” ธนากรกล่าว
แม้ไทยจะเสียเปรียบในแง่ของอัตราภาษี แต่ธนากรชี้ว่าไทยยังมีประเด็นที่สามารถนำมาใช้ในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ ดังนี้
ด้านดุลการค้ากับสหรัฐฯ เวียดนามได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ มากกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว ขณะที่ไทยทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพียง 1 เท่าตัว ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ไทยน่าจะมีโอกาสดึงมาเจรจาต่อรองได้
การนำเข้าสินค้า Transhipment: เวียดนามมีการนำเข้าสินค้า Transhipment สินค้าที่มีการหลบเลี่ยงแหล่งกำเนิดสินค้า มากกว่าไทยอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ทีมเจรจาของไทยสามารถนำไปใช้ในการต่อรองได้
ประเมินหากไทยเจรจาไม่สำเร็จ สะเทือนอุตสาหกรรมลูกโซ่ หวั่นโรงงานย้ายฐานการผลิต
ธนากร ยังย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ เพราะหากไม่สามารถหาข้อยุติได้ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม ผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หากอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากสินค้านำเข้าจากไทยมีผลบังคับใช้แล้วทางสหรัฐฯ ที่ 36% เชื่อว่าสหรัฐฯ คงไม่ถอย ส่งผลให้ต้องจำเป็นต้องใช้อัตราภาษีดังกล่าวนี้ไปนานพอสมควร
โดยหากการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จและไทยต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่ 36% ธนากรประเมินว่าผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยจะมหาศาล ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ปีละประมาณ 2 ล้านล้านบาท หากเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case) มูลค่าการส่งออกอาจลดลงไปถึง 9 แสนล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
นอกจากนี้ ผลกระทบจะไม่ใช่แค่การหยุดซื้อสินค้าเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการลงทุนในระยะยาวด้วย
“โรงงานที่กำลังจะตั้งหรือที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนอาจต้องพิจารณาใหม่ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนในไทยหรือไม่ และโรงงานที่ตั้งอยู่แล้วก็อาจจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นจริง”
สรท. – ส.อ.ท. ชงรัฐเยียวยาผลกระทบ หวั่นเสียเปรียบคู่แข่ง ย้ำ “ไทยยังมีหวัง”
สรท. ได้ยื่นหนังสือถึง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณาเจรจาอัตราภาษีให้ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งโดยตรง และคาดว่าทีมเจรจาของไทยจะนำเงื่อนไขที่สรท. เสนอไปถกกันต่อเพื่อกำหนดกรอบการเจรจา
“ มองว่าความหวังเราคงมีอยู่ และเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาวางแผนต่อไป เพื่อให้ได้อัตราภาษีที่เอื้อต่อการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยมากที่สุด สถานการณ์นี้ยังคงต้องจับตาดูความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ภาคการส่งออกไทยสามารถรับมือกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ”
ด้านเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประชุมหารือกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล เชิงเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มา 22 ประเทศ และสรุป 4 มาตรการด่วนก่อนยื่นให้กระทรวงการคลัง ” เกรียงไกร กล่าว
(ที่มาภาพ : Agrinplusnews)
อาชีพเลี้ยงหมู ที่ไม่หมู! แลกดีลภาษีทรัมป์ หวั่น ทำลายปศุสัตว์ทั้งระบบ
สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย THE STANDARD WEALTH ว่า ระบุว่า สหรัฐอเมริกาประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องเจรจากันอีกครั้ง โดยยังไม่ทราบว่า รัฐบาลจะเปิดตลาดให้มีการนำเข้าเนื้อ ชิ้นส่วน และเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ตามที่สหรัฐฯ แสดงความต้องการมานานแล้วหรือไม่
กรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งทราบว่าในที่ 11 ก.ค. ทีมไทยแลนด์ได้มีการประชุมหารือหลายฝ่าย ซึ่งสมาคมก็ยังไม่รับการติดต่อร่วมหารือแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า หากรัฐบาลยอมให้นำเข้า จะเป็นการทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร รวมถึงตลอดห่วงโซ่เนื่องจากซึ่งต้นทุนการผลิตสุกรของสหรัฐฯ ต่ำมาก
หากคิดเป็นตัวเลข หมูไทย “เสียเปรียบ” หมูสหรัฐฯ ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ขนาด พื้นที่การเลี้ยง หรือแม้แต่ราคา
โดยที่ผ่านมา ราคาเนื้อหมูไทยแพงกว่าหมูสหรัฐฯ 1.3 เท่า โดยหมูสหรัฐฯ มีราคาขายเฉลี่ยที่ 1.7 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ราวๆ 40 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูไทยมีราคาเฉลี่ยที่ 2.3 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม เฉลี่ย 70 บาทต่ต่อกิโลกรัม
อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทย-สหรัฐ “ต่างกันสิ้นเชิง”
ไม่ว่าจะเป็นขนาดฟาร์มที่ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มอุตสาหกรรม และเลี้ยงหมูได้มากกว่า 5,000 ตัวต่อฟาร์ม มีความพร้อมด้านวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ เพราะมีข้าวโพดและถั่วเหลืองที่สหรัฐฯ สามารถผลิตเองได้มาก และมีพื้นที่แปลงใหญ่ 90% มาจากฟาร์มขนาดใหญ่
ง่ายๆว่า ต้นทุนการผลิตต่ำทั้งซัพพลาย เพราะมี Economy of Scale จากฟาร์มขนาดใหญ่ ส่วนหมูไทยผลิตได้น้อยกว่าสหรัฐฯ 1.6 ล้านตัน
ที่สำคัญคือ ต้องพึ่งพาวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง ไทยส่วนใหญ่พืชไร่แปลงเล็ก มีข้าวโพดเป็นต้นทุน 70% ของต้นทุนการเลี้ยง ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก ดั้งเดิม และมีหมูไม่น้อยกว่า 50 ตัวต่อฟาร์ม หากนำเข้าผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคก็จะไปกระทบราคาเขียงหมูในตลาด
“ เมื่อนำเข้ามาจะตีตลาดในประเทศจนเกษตรกรต้องล้มละลายและไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองบนโต๊ะเจรจา เพราะเป็นสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนสูง กำไรต่ำ ”
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเปิดประตูให้โรคระบาดสัตว์และโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดหมู ซึ่งไม่เคยพบในไทย เข้ามาสร้างความเสียหายต่อระบบปศุสัตว์
“ อีกหนึ่งข้อกังวลสำคัญ คือ ประเทศผู้ส่งออกอย่างสหรัฐฯ ยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่ม Beta-agonist ที่ไทยสั่งห้ามใช้โดยเด็ดขาด และหลายประเทศไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ”
ถอดบทเรียน “ฟิลิปปินส์“
กรณีตัวอย่าง ฟิลิปปินส์เคยเปิดให้นำเข้า สุดท้ายเกษตรกรล้ม พังทั้งระบบเพราะสู้ราคาไม่ได้
สิทธิพันธ์ ย้ำอีกว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแนวทางการเจรจา หยุดแนวคิดเปิดตลาดเนื้อหมูและสินค้าเกษตรที่เปราะบาง พร้อมหันไปพิจารณาสินค้าอุตสาหกรรมอื่นที่สามารถแข่งขันได้จริง
“ต้นทุนการผลิตเกษตรที่สูงอยู่แล้ว จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ ขณะขณะที่ทรัมป์ยังกดดันไทยเรื่องภาษีนำเข้าสินค้า และรัฐบาลไทยยังจะไปเสนอให้ไทยนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลืองจากสหรัฐเพิ่ม และที่สำคัญจะให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู เนื้อโคจากสหรัฐ หากไม่มีมาตรการป้องกันที่ดี ต่อไปฟาร์มของเกษตรคงล่มสลาย เลิกเลี้ยง เพราะสู้ไม่ได้ ปศุสัตว์ตายทั้งระบบ แน่นอน”
“พิชัย” ย้ำดีลเกษตรไทย-สหรัฐ ต้องรอบคอบและ Win-Win
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พิชัย ชุณหชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า รัฐบาลจะพิจารณาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ “อย่างรอบคอบ” โดยเฉพาะในส่วนที่ประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอหรือนำเข้าเพิ่มเพื่อแปรรูปส่งออก เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้ากับสหรัฐฯ
สำหรับข้อกังวลด้านสุขภาพจากสารเร่งเนื้อแดง จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง พร้อมระบุว่าแต่ละประเทศมีมุมมองที่แตกต่างกัน
“ไทยจะใช้เวลาที่เหลือในการเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาเพิ่มรายการสินค้าที่สามารถนำเข้า-ส่งออก ระหว่างกัน ย้ำเป้าหมาย Win-Win แล้วจะสรุปข้อเสนอใช้ชัดเจนก่อนส่งสหรัฐอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ค.”
ภาพ : Andy Sacks, SeizaVisuals / Getty Images