นักปวศ. เล่าลึก หลังลงนามปี 18 สัมพันธ์ 'ไทย-จีน' ยัง 'ลุ่มๆดอนๆ' ก่อนเข้าสู่ยุค '4 ทันสมัย'
อัครพงษ์ – ศูนย์ข้อมูลมติชน ยกเหตุการณ์ปวศ. ‘นสพ.ประชาชาติ’ ฉายภาพ ‘เหมา เจ๋อตุง จับมือ คึกฤทธิ์’ ชี้หลังเปิดสัมพันธ์การทูตไทย–จีน ยังไม่ราบรื่น กระทั่งเข้าสู่ยุค ‘สี่ทันสมัย’ ของ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (อาคาร West ชั้น 2) พระโขนง กรุงเทพฯ ในวาระพิเศษของการครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน เครือมติชนเปิดม่านเทศกาลวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ “Thai–Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย–จีน” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11–13 กรกฎาคม เวลา 10.00–18.00 น. ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้าย
บรรยากาศช่วงเช้า 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก ประชาชนทยอยเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจเลือกชมหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนและสำนักพิมพ์พันธมิตรเป็นพิเศษ พร้อมตั้งตารอคอยกิจกรรมนิทรรศการที่จะจัดขึ้นในช่วงเวลาต่อไป
เวลา 11.00 น. มีการนำชม นิทรรศการ จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน โดย ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และนายจุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
นายจุมพฏ กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์การสถาปนาทางการทูตไทยจีน ส่งผลต่อชีวิต 3 อย่าง ได้แก่ “1.ความมั่นคง ถ้าไม่มีเหตุการณ์การสถาปนาทางการทูตไทยจีน เราจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เรามีพรมแดนติดกับประเทศคอมมิวนิสต์
ตอนนั้นการสถาปนาทางการทูตไทยจีน ทำให้เรามีหลักประกันว่า เราจะไม่ถูกรุกรานจากกองกำลังต่างชาติ การต่อสู้ด้วยอาวุธเริ่มอ่อนตัวลง จนสลายลงไป ทำให้เกิดความมั่นคงในประเทศเกิดขึ้น
2.สันติภาพ ในขณะนั้นความคิดที่ใช้กำลังทหาร เพื่อแพร่อิทธิพลจากประเทศต่างๆ เวียดนาม ก็ถือว่า เป็นประเทศที่มีกำลังทหารดีที่สุด ความคิดนั้นก็เป็นไปไม่ได้ และถูกยกออกไป การสถาปนาทางการทูตไทยจีน ก็ทำให้ไทยมีหลักประกันที่เราเป็นพันธมิตรกับจีน
และ3.ความสุขของสังคม หลังการลงนาม เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 การสถาปนาทางการทูตไทยจีน ได้ทำให้คนจีนที่ถือ 2 สัญชาติ ต้องเลือกว่า จะถือสัญชาติไทยหรือจีน สมัยนั้นมีใบต่างด้าว 330,000 คน แปลว่า คนจีนที่อยู่ในประเทศไทยตอนนั้น ก็คือสัญชาติจีนด้วย
ทำให้นายอานันท์ ปันยารชุน คุยกับจีนว่า ‘เรื่องนี้มีผลต่อจิตใจเรามาก เพราะเราไม่รู้ว่า คนจีนที่อยู่ในประเทศไทย เขาภักดีต่อผืนแผ่นดินไทยชัดเจนหรือไม่ ทางจีนก็บอกว่า ‘เราจะให้คนจีนที่อยู่ในไทย ใช้สัญชาติไทย’
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เรื่องที่ตกลงว่าจะเอาอย่างไรก็แน่ ได้ปลดล็อกความหวาดระแวงไปเลย เยาวราชที่มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก สามารถอยู่ร่วมกันได้จนถึงทุกวันนี้” นายจุมพฏ กล่าว
จากนั้น ผศ. อัครพงษ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 การสถาปนาทางการทูตไทยจีน ไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ลื่นไหล ถึงแม้ว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะนั่งสายการบินไทยไปลงที่ปักกิ่ง แต่หลังจากนั้นมา ความสัมพันธ์ไทยจีนกับ ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ตลอด
หลังจากนั้น 1 ปี นายกฯ คึกฤทธิ์ ตกจากที่นั่งนายกฯ ในปี 2519 ก็มีเหตุการณ์ฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความสัมพันธ์ไทยจีนกว่าจะเข้ามามีความรู้สึกว่าใกล้ชิดกัน ก็เมื่อจีนเปลี่ยนนโยบายแล้ว
“เมื่อ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน นำ ‘สี่ทันสมัย’ เข้ามา เราจึงเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม จึงเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ด้วยการมีการลงนามในหนังสืออย่างเป็นทางการ” ผศ. อัครพงษ์ กล่าว
ผศ. อัครพงษ์ กล่าวต่อว่า หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ฉายภาพหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ทุกคนจะเห็นได้ว่า ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 เพียงแค่ในหน้าเดียวมีประวัติศาสตร์เยอะมาก นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เดินทางไปทำข่าวในนามหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ได้มีรูปให้เห็นว่า นายกฯ คึกฤทธิ์ จับมือกับประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง แต่อย่าลืมว่า เมื่อเราสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ เราต้องตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน
นายจุมพฏ กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน หนังสือพิมพ์ประชาชาติได้ลงรูป สถานทูตไต้หวันได้ทำการชักธงไต้หวันลดเหลือครึ่งเสา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ในภาพหนังสือพิมพ์มีคำว่าตัดขาด ‘ตัดขาด’ คำถามคือว่า เราเคยประกาศความสัมพันธ์กับไต้หวันด้วยหรือไม่
“วันที่ 27 มิถุนายน 2518 ก่อนการไปเยือนปักกิ่ง 3 วัน กระทรวงการต่างประเทศ โดยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้เรียกทูตไต้หวันประจำประเทศไทย ให้มายื่นหนังสือ ‘บันทึกช่วยจำ’ มีข้อความว่า “เมื่อไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแล้ว ก็ให้ถือว่า ความสัมพันธ์กับไต้หวันเป็นอันสูญสลายไป โดยไม่มีประกาศอื่นใดที่จะบอกว่า ‘เราตัดความสัมพันธ์’ นอกจากนี้ ทุกคนคงทราบว่า เรามีความสัมพันธ์ทางการค้า ทางการท่องเที่ยว สามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างปกติ” นายจุมพฏ กล่าว
จากนั้น ผศ. อัครพงษ์ กล่าวเสริมว่า เหตุใดทำไมไทยจึงไปตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน อย่าลืมว่า ในขณะนั้นมีนโยบาย ‘จีนเดียว’ เรามีความสัมพันธ์จีนปักกิ่งแล้ว จีนทุกจีนเป็นจีนหมด
ต่อมา ผศ. อัครพงษ์ กล่าวถึง เหตุการณ์ 11 สิงหาคม 2518 ‘ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ล้ม โดยเป็นวันเดียวกับวันคล้ายวันเกิดของ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ซึ่งท่านก็ได้บูรณะพระธาตุพนมขึ้น
“เหตุการณ์นี้ ทำให้ทุกอย่างนำไปสู่การกลัวคอมมิวนิสต์หมดเลย ในการลงความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีน เขาก็กลัวว่าเราจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ มีคำที่บอกว่า ‘11 สิงหาคม พระธาตุพนมล้ม คอมมิวนิสต์ทำลายพระพุทธศาสนา
จนเกิดเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดเหตุการณ์การฆ่านักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าลืมว่า แม้วันที่ 1 กรกฎาคม 2518 จะเป็นวันสถาปนาทางการทูตไทยจีน จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ แต่ความไม่ไว้วางใจกันในทีม ระหว่าง 2 ประเทศ ยังมีอยู่ตลอด” ผศ. อัครพงษ์ กล่าว
ด้านนายจุมพฏ ได้กล่าวโยงเรื่องวรรณกรรมจีนว่า มันมีความหมายและมีความคิดที่อยู่ในหัวเรามาก ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่มีเชื้อสายจีน หรือไม่มีเลย แต่หากคุณได้ไปอ่านเรื่องแนวจีนใด แนวหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น สามก๊ก ก็คือการตั้งตัวความเป็นผู้ประกอบการ ไซอิ๋ว ให้ความคิดด้านการจินตนาการ เปาบุ้นจิ้น ให้ความคิดเรื่องความซื่อสัตย์ยุติธรรม นิยายกำลังภายในก็จะให้ความคิดเรื่องคุณธรรม
“ท้ายที่สุดมันสามารถให้ความคิดคนในสังคมขึ้นมาได้ว่า ‘จะเป็นสังคมที่ดีได้อย่างไร’ หนังสือที่พิมพ์สมัย ‘ซุน ยัตเซ็น’ เป็นหนังสือที่เล่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนที่อ่านหนังสือพวกนี้คือ นักเรียนนายร้อย ที่มาอ่าน ‘ลัทธิไตรราษฎร์’ ว่าสยามจะเป็นอย่างไรต่อไป นี่เป็นสาเหตุที่ติดความคิดของทหาร หรือนักเรียนนายร้อยรุ่นใหม่ ที่ในที่สุดมันก็เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่อยากเห็นสังคมยุคใหม่เกิดขึ้น” นายจุมพฏ ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ จนถึงเวลา 18.00 น. โดยวันนี้เป็นวันสุดท้าย ณ True Digital Park อาคาร West ชั้น 2 กรุงเทพฯ ลงสถานี BTS สถานีปุณณวิถี มีพื้นที่จอดรถรองรับภายในอาคาร เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นักปวศ. เล่าลึก หลังลงนามปี 18 สัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ ยัง ‘ลุ่มๆดอนๆ’ ก่อนเข้าสู่ยุค ‘4 ทันสมัย’
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th