วงการสีกากี อ่อนใจ หลัง"อัยการจังหวัด" สั่งเช็กบิล"พนักงานสอบสวน"
5 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เมื่อเร็วๆนี้ เกิดเหตุสร้างความสับสนในประเด็นทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามกระบวนการยุติธรรม โดยในช่วงที่ผ่านมา ร้อยเวร/พนักงานสอบสวนจำนวนหนึ่งได้สอบถามผู้บังคับบัญชาตามสายงานว่า ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563นั้นหากอัยการจังหวัดไม่เห็นด้วยตามสำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องนั้น หากอัยการมีคำแนะนำให้พนักงานสอบสวนไปทำการสอบสวนเพิ่มเติม หรืออัยการแนะนำให้ดำเนินคดีเพิ่มบางบุคคล หากพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการ หรือกรณีที่พนักสอบสวนออกหมายจับที่มีอายุความไม่ตรงตามข้อหา อาจโดนอัยการแจ้งผู้บังคับบัญชาให้สอบสวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้อาจเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของพนักงานสอบสวนจากอัยการ
“เพราะมีกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 โดยพนักงานสอบสวนนายหนึ่งในสภ.แห่งหนึ่ง สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค5 ดำเนินคดีตามคำแนะนำที่อัยการจังหวัดคนหนึ่งให้คำแนะนำแต่ขอออกหมายไม่ถูกต้อง จนอัยการจังหวัดคนนั้นทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชากองบัญชาการดังกล่าวให้ดำเนินการเอาผิดกับพนักงานสอบสวนคนนั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่/ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” เเหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ กล่าว
“ข้อเท็จจริงคือ ชมรมนักข่าวของจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือจัดประชุมช่วงโควิด-19 มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักข่าวรวม 30 คนและผู้จัดเชิญนายกอบจ.,นายกเทศบาลและอดีตนายกอบจ.มาให้ความรู้ หลังประชุมจบมีการดื่มสุรา และมีการแจ้งความดำเนินคดี พบว่าประธานชมรมนักข่าวรับผิดคนเดียว พนักงานสอบสวนคนนี้เห็นควรฟ้องคนเดียวแต่อัยการจังหวัดคนนี้ แนะนำให้ดำเนินคดีอีก7-8คน ซึ่งตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีฯ2563ข้อ45 ระบุว่า…หากอัยการจังหวัดว่าเห็นตามสำนวนการสอบสวนที่ส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องนั้น ควรดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีหรือบุคคลอื่น ให้หัวหน้าอัยการทำความเห็นเสนออธิบดีตามลำดับชั้น แล้วแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีบุคคลดังกล่าว หากพนักงานสอบสวนเพิกเฉยไม่ปฎบัติตาม ให้ทำความเห็นเสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีอัยการเพื่อแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวน
ซึ่งปกติการแนะนำให้ดำเนินคดี ที่อัยการแนะนำนั้นพนักงานสอบสวน ก็ดำเนินคดีบ้าง หรือดำเนินคดีเร็วบ้างช้าบ้าง ไม่ดำเนินการตามบ้าง ซึ่งอัยการก็ได้แต่เตือน หรือไม่ก็ถือว่าหมดหน้าที่เพราะให้คำแนะนำแล้ว หรือเสนออธิบดีอัยการเพื่อแจ้งผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนเพื่อสั่งพนักงานสอบสวนตามระเบียบฯข้อ 45 และการขอออกหมาย หมายที่ออกเป็นอำนาจศาล ซึ่งมีบ่อยครั้งที่ออกหมายผิดข้อหาและอายุความผิด แต่ทางปฎิบัติอัยการจะสั่งให้ส่งตัวมาภายในกำหนดอายุความที่ถูกต้องโดยไม่ต้องสั่งให้ไปขอหมายใหม่
แต่พนักงานสอบสวนคนนี้ทำตามคำสั่งของอัยการเพียงแต่ข้อหากับผู้ต้องหาไม่ครบอายุความจึงผิด ซึ่งอัยการสามารถสั่งให้ส่งตัวภายในอายุความที่ถูกต้องได้ ตามระเบียบข้อ77 อัยการคนนี้จึงทำหนังสือขอให้ผู้บังคับบัญชาพนักงานสอบสวนดำเนินการทางวินัยและอาญา ซึ่งไม่มีใครกระทำกัน”
แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเเละว่า กรณีนี้ทำให้ร้อยเวร/พนักงานสอบสวนทั่วประเทศที่ทราบเรื่องนี้ไม่สบายใจและรอคำตอบจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะมีคำชี้แจงและแนวทางในกรณีดังกล่าวอย่างไร เพราะมองกันว่าหากมีการแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการไปนั้น แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการ หรือดำเนินการไม่ครบถ้วน เพราะแจ้งข้อหาไม่ครบถ้วนหรือ ขอออกหมายไม่ครบถ้วนนั้น มีระเบียบอัยการฯข้อ37กำหนดให้อัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งข้อหาให้ครบถ้วน และระเบียบข้อ 77 ให้สั่งให้จัดการให้ได้ตัวมาภายในอายุความที่ถูกต้องได้
หากเกิดกรณีที่อัยการเเจ้งผู้บังคังบัญชาว่าพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการตามข้อเเนะนำของอัยการ พนักงานสอบสวนจะโดนสอบวินัยเเละอาญา จนตอนนี้กำลังใจของพนักงานสอบสวนจำนวนมากย่ำเเย่จากกรณีดังกช่าว
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานภายในต่อกรณีนี้มาแล้วระยะหนึ่ง และรอความเห็นจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งกรณีนี้กำลังสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้การทำงานระหว่างตำรวจกับอัยการในกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างราบรื่นในอนาคต และตอนนี้ทราบว่าอัยการคนดังกล่าวย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ในกทม.แล้ว
โดยสำนักงานอัยการสูงสุดยืนยันว่าความเห็นแย้งในกระบวนการยุติธรรมระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการที่เกี่ยวกับรูปคดีต่างๆนั้นเป็นเรื่องปกติ คือหากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาไม่ครบในสำนวนคดีอาญานั้นๆ อัยการจะมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มให้ครบ หากแจ้งไปแล้วพนักงานสอบสวนยังไม่ดำเนินการตามข้อแนะนำของอัยการ อัยการต้องแจ้งไปยังอธิบดีอัยการให้รับทราบตามขั้นตอน แต่กรณีในจังหวัดภาคเหนือนั้นยอมรับว่ามีการดำเนินการของอัยการจังหวัดคนนั้นที่ข้ามขั้นตอนและดำเนินการที่อาจกระทบกระเทือนการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนสภ.แห่งนั้นในภาคเหนือและเรื่องนี้น่าจะได้ข้อยุติในเร็วๆนี้และน่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคต เพื่อให้การร่วมมือระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการในกระบวนการยุติธรรมดำเนินการได้อย่างโปร่งใสและไร้ความขัดเเย้ง
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า คำเเนะนำของอัยการที่เเนะนำพนักงานสอบสวนให้สอบสวนเพิ่มเติม ถือว่ากระทำได้ตามป.วิอาญา มาตรา142-143 ไม่ถือว่าเป็นการเเทรกเเซงพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนไม่กระทำตามคำเเนะนำของอัยการ ในสำนวนคดีนั้นๆ เช่นสอบสวนเพิ่มเติม อัยการสามารถเเจ้งผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของพนักงานสอบสวนให้พิจารณาความผิดการไม่ปฏิบัติตามคำเเนะนำของอัยการได้ ตรงนี้ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ร่วมกันในกระบวนการยุติธรรมของอัยการเเละพนักงานสอบสวน