“สคส.” จับตาสแกนม่านตารับสินทรัพย์ดิจิทัล วางแนวทางดูแลการเก็บใช้ข้อมูลชีวมิติ
พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ พีดีพีซี เปิดเผยว่า จากกรณีมีบริษัทเอกชนเปิดให้ประชาชนจำนวนมากเข้าสแกนม่านตาในกิจกรรมเพื่อรับสินทรัพย์ดิจิทัล จนมีความกังวลในประเด็นความปลอดภัยของข้อมูล หรือการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนความกังวลเรื่องกฎหมาย ทาง สคส. จึงเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน เพื่อตรวจสอบและวางแนวทางร่วมกัน ในการวางกรอบมาตรการที่ชัดเจนต่อการใช้ข้อมูลชีวมิติ (ไบโอเมตริก ดาต้า) โดยเฉพาะข้อมูลม่านตา ซึ่งถือเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว” ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (พีดีพีเอ)
ทั้งนี้ ทาง สคส. จะเข้าตรวจสอบขั้นตอนการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลให้เป็นไปอย่างชัดแจ้ง รวมถึงการแจ้งวัตถุประสงค์และสิทธิในการเพิกถอนข้อมูล หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย พีดีพีเอ ทันที ส่วนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า ร่วม พีดีพีซี อีเกิล อาย จะตรวจสอบว่าแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ใน เวิลด์ แอป ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะต้องยุติการใช้งาน ขณะที่ สำนักงาน ก.ล.ต. จะตรวจสอบหากพบว่ามีการใช้แอปต่างประเทศเพื่อหารายได้ในระบบ จะดำเนินการตามระเบียบกฎหมายตลาดทุน และทางตำรวจไซเบอร์ ยืนยันว่าจะดำเนินคดีในทันที หากพบการนำข้อมูลชีวมิติไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือมีการหลอกลวงให้สแกนม่านตาโดยจงใจ
อย่างไรก็ตาม ทางด้านตัวแทนบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวชี้แจงว่า การเก็บข้อมูลม่านตามีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นมนุษย์ โดยไม่มีการจัดเก็บถาวร และข้อมูลจะถูกลบอย่างถาวรหลังการใช้งาน พร้อมส่งหลักฐานให้ สคส. ตรวจสอบ นอกจากนี้ บริษัทยังให้คำมั่นจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติม คือ จะจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจก่อนเข้าร่วมกิจกรรม โดยเตือนภัยเรื่องการรับจ้างสแกน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเงินที่มาจากการกระทำผิด และยืนยันว่าแต่ละบัญชีสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะเจ้าของเท่านั้น
“การประชุมครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างกลไกร่วมดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติในภาคประชาชน โดยเทคโนโลยีต้องไม่ละเมิดสิทธิ และข้อมูลส่วนบุคคลต้องอยู่ภายใต้ความยินยอมที่แท้จริง ซึ่งการสแกนม่านตา หรือการใช้ข้อมูลชีวมิติในอนาคต ไม่ว่าจะในรูปแบบใด จะต้องได้รับการกำกับดูแลอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบนิเวศดิจิทัลไทย”