ร่วมฝึก! สหรัฐฯ ส่งเรือรบ USS ซานต้า บาบาร่า พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ และ นย.สหรัฐฯ ร่วมฝึกผสม การัต 2025 (CARAT 2025) กับ ทร.ไทย เริ่มเปิดฉากการฝึกจันทร์ที่ 7 ก.ค.นี้
ร่วมฝึก! สหรัฐฯ ส่งเรือรบ USS ซานต้า บาบาร่า พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ และ นย.สหรัฐฯ ร่วมฝึกผสม การัต 2025 (CARAT 2025) กับ ทร.ไทย เริ่มเปิดฉากการฝึกจันทร์ที่ 7 ก.ค.นี้ เพื่อรับมือภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเล
กองทัพเรือ โดยกองเรือยุทธการ จะมีพิธีเปิดการฝึกผสมกองทัพเรือไทย-สหรัฐฯ ภายใต้รหัสการัต (CARAT 2025 ) ในวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 โดยมีพล.ร.อ.ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานฝ่ายไทย และพล.ร.ต.หญิง เคธี่ เอฟ เชลดอล รองผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 กองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ ที่ท่าเรือแหลมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
โดยการฝึกจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 7 - 18 กรกฎาคม 2568 รวม 12 วัน ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง และพื้นที่ทางทะเลอ่าวไทยตอนบน โดยกองทัพเรือได้มอบหมายให้กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยรับผิดชอบการฝึก มี พลเรือตรี อนุรักษ์ พรหมงาม ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสม CARAT 2025
รูปแบบการฝึกแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ การฝึกในท่า การฝึกในทะเล และการสรุปผลการฝึก โดยกองทัพเรือไทยได้ส่งเรือรบเข้าร่วมการฝึก 3 ลำ คือ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงสายบุรี และเรือรัตนโกสินทร์ รวมทั้งอากาศยาน 5 ประเภทคือ เครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 ดอร์เนียร์ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ซีฮอร์ค เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบที่ 6 อากาศยานไร้คนขับตรวจการณ์ชี้เป้า แบล็คแจ็ค และอากาศยานไร้คนขับ ซีเบล S-100
ส่วนกองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือรบเข้าร่วมการฝึก 1 ลำ คือ เรือรบ USS ซานต้า บาบาร่า และอากาศยาน 3 ประเภท คือ เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล P-8A โพไซดอน และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ซีฮอร์ค รวมทั้งจัดหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ และวงดุริยางค์จากกองเรือที่ 7 สหรัฐฯ
ไฮไลท์สำคัญคือการฝึกในภาคทะเล ระหว่าง 12 - 14 ก.ค.2568 .โดยจะมีการฝึกปราบเรือดำน้ำ ฝึกป้องกันภัยทางอากาศ ฝึกรบยุทธวิธีทางเรือ และฝึกแปรกระบวน ก่อนการประชุมสรุปผลปิดการฝึก และส่งเรือรบสหรัฐฯ เดินทางกลับ
การฝึกผสม CARAT 2025 เป็นการฝึกผสมทวิภาคี ระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นการฝึกผสมที่ใหญ่ที่สุดระหว่างกองทัพเรือทั้งสองประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการฝึกตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบัน
วัตถุประสงค์การฝึก เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพเรือไทย และกองทัพเรือสหรัฐฯ มีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาความสามารถของกำลังพลทั้ง 2 ประเทศ ในการปฏิบัติภารกิจทางทะเลการร่วมกันในทุกระดับ เสริมสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจอันดีในการปฏิบัติการ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถภาพสถานการณ์ทางทะเลให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน