INTERVIEW: คุยกับเมอา—MayyR กับชีวิตใหม่ในบทบาทคุณแม่
จากยูทูบเบอร์สาวสายแฟชั่นไลฟ์สไตล์อารมณ์ดี MayyR หรือ เม—พรพรรณ เรืองปัญญาธรรม ที่หลายคนติดตามชีวิตของเธอมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการบล็อกเกอร์ รีวิวเครื่องสำอาง ทำคลิปแต่งหน้า ต่อเนื่องมาถึงการทำงาน กิจการคาเฟ่ของตัวเอง แต่งบ้าน แต่งงานสร้างครอบครัว ตอนนี้เมอากำลังเดินทางในเส้นทางและบทบาทใหม่ที่สำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือการเป็นคุณแม่ของน้องลลิน ลูกสาววัย 4 เดือน ที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัววันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเมอา ที่ไม่ใช่ยูทูบเบอร์ ไม่ใช่บล็อกเกอร์ แต่เป็นคุณแม่มือใหม่ป้ายแดง ที่กำลังเรียนรู้ว่าบทบาทคุณแม่นี้จะสร้างประสบการณ์และความรู้สึกอย่างไรให้กับเธอบ้าง
ช่วยเล่าความรู้สึกตอนที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะเป็นคุณแม่ความรู้สึกแรกตอนรู้ว่าตั้งท้องแล้ว จะเป็นแม่แล้วก็คือตกใจ งง และช็อก จะบอกว่าไม่ได้เตรียมตัวก็ไม่ใช่ เพราะจริงๆ ก็เตรียมตัวมาแล้ว แต่ว่าพอถึงเวลาที่ต้องเป็นแม่จริงๆ มันรู้สึกใจหาย รู้ว่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตจะเปลี่ยนไป เช่น การดูแลสุขภาพ การดูแลอารมณ์ หรือแม้แต่การดูแลเรื่องความงามที่เคยทำ ก็อาจต้องเปลี่ยนไปบ้างแล้วเอาเข้าจริงมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงบ้างเปลี่ยนหมดเลยค่ะ เราหาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ว่าคนท้องมีอะไรที่ต้องระวัง ต้องเลี่ยง หรือเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตบ้าง แต่เรื่องการกินเปลี่ยนน้อยที่สุด (หัวเราะ) เพราะก่อนท้องก็กินเยอะอยู่แล้ว แต่ช่วงท้องจะเสริมอาหารที่บำรุงสุขภาพมากขึ้น เช่น กินโปรตีนตามที่หมอแนะนำ ส่วนเรื่องอารมณ์ ก็ระวังมากขึ้น เพราะฮอร์โมนส่งผลต่ออารมณ์เยอะ ต้องพยายามควบคุมไม่ให้อารมณ์แย่เกินไปวันที่ลูกคลอด คนเป็นแม่จะเกิดความรู้สึกผูกพันขึ้นทันทีหรือมันจะค่อยๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้นเมว่ามันอาจจะแล้วแต่คน บางคนคลอดปุ๊บก็รู้สึกผูกพัน รักลูกเลยทันที แต่บางคนความรู้สึกแบบนั้นจะค่อยๆ เกิดขึ้นและพัฒนาไปเรื่อยๆ เหมือนกับการทำความรู้จักใครสักคนหนึ่ง เราต้องใช้เวลาอยู่กับเขาไปเรื่อยๆ ความรักและความผูกพันก็จะค่อยๆ สร้างขึ้นตามวันเวลา ตามพัฒนาการต่างๆ ของลูก เราถึงจะเริ่มรู้สึกผูกพันและรักเขาอย่างลึกซึ้ง มันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในวันเดียว หลังคลอดไม่ใช่ว่าฟังเสียงลูกแล้วจะรู้สึกตื้นตันใจเลยทันทีแบบนั้นตอนลูกคลอดออกมา เราจะรู้สึกว่าคนนี้เคยอยู่ในท้องเรา เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา ตอนนี้เจ้าตัวน้อยออกมาแล้ว มันเหมือนเขายังเป็นส่วนหนึ่งของเราอยู่ ความรู้สึกนี้เป็นไปตามสัญชาตญาณ ที่เราจะต้องปกป้องเขา เพราะเขาคือคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในตอนนี้ เขาต้องการคนดูแลและปกป้อง ซึ่งคนนั้นก็คือเรา คนอื่นไม่สามารถทำแทนได้ เพราะเราเป็นคนให้กำเนิดเขามา เราเป็นผู้สร้างชีวิตนี้ขึ้นมา เราจึงต้องดูแลและปกป้องเขาให้เติบโตอย่างแข็งแรงและปลอดภัยความรักในช่วงแรกอาจจะยังไม่ใช่ความรักที่เต็มเปี่ยม แต่มันค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยในทุกๆ วัน ตั้งแต่ลูกเริ่มยิ้มให้เรา มีพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เริ่มสบตา เริ่มรู้จักเรา ความสัมพันธ์และความรักก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ความรักนี้จะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
แผนการเลี้ยงลูกในอุดมคติ หรือภาพการเป็นคุณแม่มือใหม่ของเมอาเป็นอย่างไรตอนที่ตั้งท้องก็ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการเลี้ยงลูกไว้อยู่บ้าง ทั้งเรื่องการกิน การนอน การดูแลสุขภาพลูกในเบื้องต้น วางแผนคร่าวๆ ไว้เหมือนกันว่าเราจะจัดตารางชีวิตลูกยังไง สอนอะไรยังไง แต่เรื่องเดียวที่ไม่ได้เตรียมไว้เลยก็คือเรื่องการให้นม (หัวเราะ) ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงข้ามเรื่องนี้ไปเลย กลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้น ทั้งที่พอคลอดจริงๆ กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากและเป็นปัญหาหนักมากที่สุดปัญหาเกี่ยวกับการให้นมที่ผ่านมาคืออะไรบ้างตอนฟังเรื่องให้นมแม่จากคนอื่น เห็นว่าลำบากมาก แต่ก็ยังไม่คิดว่ามันจะทรมานขนาดนี้ เราเคยคิดว่าแม่ทุกคนให้นมลูกเป็นเรื่องปกติ เหมือนเห็นมาแต่เด็ก แต่มันไม่ใช่เลย การให้นมแม่ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจมาก ต้องผ่านความเจ็บปวดและเหนื่อยมากกว่าที่คิดไว้มากเพราะนอกจากจะต้องเจ็บแผลจากการคลอดและอดนอนแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าการให้ลูกกินนมแม่มันจะต้องใช้ร่างกายขนาดนี้ ทรมานขนาดนี้ เราเคยคิดว่าเรื่องให้นมแม่เป็นเรื่องปกติ มองภาพจากที่เห็นแม่คนอื่นให้นมลูกก็ดูราบรื่นดี ดูสบายๆ แต่พอมาเจอเองจริงๆ ถึงได้รู้ว่าเบื้องหลังภาพเหล่านั้นมันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ร่างกายเราไม่เคยเตรียมพร้อมมาก่อน แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เจ็บเฉยๆ แต่เป็นความทรมานที่กินเวลานาน และเหนื่อยล้ามากจริงๆ โดยเฉพาะตอนที่คลอดแล้วทางโรงพยาบาลก็จะจัดให้ลูกเข้าเต้าทันทีเพื่อกระตุ้นน้ำนม ยอมรับเลยว่าช่วงนั้นคือช่วงที่ทรมานที่สุด ทำอะไรไม่ได้นอกจากอดทนอย่างเดียว พอกลับบ้านหลังออกจากโรงพยาบาล ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะมีเรื่องของฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวด้วย มีภาวะเบบี้บลู อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยล้า ร้องไห้ง่าย สับสน แล้วร่างกายก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ มันคือช่วงที่เหนื่อยและยากมากที่สุดในชีวิตจริงๆผ่านช่วงเวลาเบบี้บลู (ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด) มาได้อย่างไรช่วงกลับมาอยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะตอนช่วงเย็นๆ ที่บรรยากาศมืดสลัว เรารู้สึกเศร้า ท้อแท้ เครียด และร้องไห้ตลอดเวลา พยายามอดทนแต่ก็แย่ลงเรื่อยๆ สุดท้ายต้องไปหาคุณหมอและหยุดให้นมแม่ไปประมาณหนึ่งอาทิตย์ เพื่อรักษาแผลบริเวณหัวนม ซึ่งระหว่างนั้นได้พักผ่อนมากขึ้น สามีก็ช่วยสลับกันดูแลลูก ทำให้เราได้นอนพัก ผ่อนคลายมากขึ้น อาการซึมเศร้าและเครียดก็ดีขึ้น จนกลับมารู้สึกมีความสุขอีกครั้งถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากบอกอะไรกับตัวเองในช่วงเวลานั้นอยากบอกตัวเองว่า แม้ตอนนั้นมันแย่ แต่มันมีทางออก และเราจะผ่านไปได้ การเลี้ยงลูกไม่มีสูตรตายตัว เลือกวิธีที่ทำให้ตัวเองสะดวกและมีความสุขดีที่สุด เราเลี้ยงลูกแบบมีความสุข ดีกว่าเครียดมากจนไม่มีความสุขแนวทางเลี้ยงลูกช่วงแรกเป็นอย่างไรบ้างตอนแรกก็ดูตารางกินนอนอย่างซีเรียส นับเวลาลูกตื่นและนอนให้เป๊ะ แต่หลังๆ ก็ปล่อยตามสบาย ถ้าลูกไม่อยากนอนก็ไม่บังคับ อยากเล่นก็เล่น อยากนอนก็นอน กลายเป็นเราต้องปรับตามลูกมากขึ้น ใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เป็นไกด์ไลน์ แล้วก็ปรับตามความเหมาะสมของลูกไปเรื่อยๆ
"ความต้องการของลูกมันชัดเจนมาก เช่น หิว ง่วงนอน ไม่สบายตัว มันมีแค่ไม่กี่อย่าง เป็นพื้นฐานที่เข้าใจง่าย แต่สิ่งที่ยากที่สุด มันไม่ใช่เรื่องของลูกเลยค่ะ มันอยู่ที่ตัวเราเองทั้งหมดเลยว่าจะสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ไหม จัดการร่างกายได้ไหม พักผ่อนเพียงพอไหม"
เรื่องที่คิดว่ายากที่สุดในการเลี้ยงลูกช่วง 3 เดือนแรกสำหรับเม รู้สึกว่าลูกไม่มีอะไรยากเลยค่ะในช่วง 3 เดือนแรก เพราะว่าความต้องการของลูกมันชัดเจนมาก เช่น หิว ง่วงนอน ไม่สบายตัว มันมีแค่ไม่กี่อย่าง เป็นพื้นฐานที่เข้าใจง่าย แต่สิ่งที่ยากที่สุด มันไม่ใช่เรื่องของลูกเลยค่ะ มันอยู่ที่ตัวเราเองทั้งหมดเลยว่าจะสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ไหม จัดการร่างกายได้ไหม พักผ่อนเพียงพอไหม เพื่อให้เรามีอารมณ์ที่ดีพอที่จะทำให้ทุกอย่างในแต่ละวันราบรื่น ไม่หงุดหงิด ไม่เหนื่อย ไม่เบลอ คือทั้งหมดมันอยู่ที่การจัดการตัวเองเลยค่ะ ไม่ใช่ลูกเลย
เคยคิดไหมว่าตัวเองจะเป็นคุณแม่แบบไหนตอนแรกก็เคยเดาทางตัวเองไว้นะคะ คิดว่าเราเป็นคนค่อนข้างจริงจัง เป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ประมาณหนึ่ง เวลาทำงานก็จะเป๊ะ คิดไว้เลยว่าถ้ามีลูกก็คงจะมีวิธีที่เป็นระบบมากๆ ทำทุกอย่างตามขั้นตอน ลูกต้องเชื่อฟัง ทำตามได้เป๊ะๆ แต่พอได้เลี้ยงลูกเองจริงๆ กลับกลายเป็นว่าเราไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น กลายเป็นว่าชิลกว่าที่คิดไว้เยอะเลย สามียังแซวว่าเราใจเย็นกว่าที่เขาคิดไว้เยอะมาก อย่างเช่น เวลาลูกไม่หลับก็คือไม่เป็นไร งอแงมากๆ ก็ไม่เป็นไร หาทางเข้าใจเขาได้ก็พอแล้ว หรือบางช่วงที่ลูกนอนยาก เราก็แค่ยอมรับว่านี่คือช่วงเวลานั้นของเขา เราไม่ได้ถึงกับนั่งคิดกังวลว่าลูกจะเป็นอะไร คือลูกเป็นแบบไหนเราก็พยายามเข้าใจแบบนั้น ก็เลยกลายเป็นว่าทุกอย่างมันไม่ได้เป๊ะเท่าที่เราคิดไว้ตอนแรกเลยค่ะมีอะไรที่คิดไว้แล้วความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกบ้างตอนแรกคิดไว้เลยว่าถ้ามีลูกเราน่าจะไม่ได้ออกไปไหนเลย ต้องอยู่บ้านตลอด คงต้องให้นมลูกทั้งวันทั้งคืน แล้วก็จะยุ่งจนไม่มีเวลาทำอะไรเลยด้วยซ้ำ ยิ่งช่วง 3 เดือนแรกหลายคนก็บอกว่าไม่ควรพาลูกออกนอกบ้าน เพราะเป็นช่วงที่ลูกยังเล็กมาก ก็ทำใจไว้แล้วเหมือนกันว่าเราคงต้องเก็บตัวเงียบๆ อยู่กับบ้านสักพักใหญ่แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามเลยค่ะ เพราะตั้งแต่ลูกอายุประมาณ 2 สัปดาห์ก็มีเหตุให้ต้องออกจากบ้านตลอด เช่น ต้องพาลูกไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล ไปทำธุระนู่นนี่ กลายเป็นว่าออกจากบ้านทุกวันเลย แล้วพอกลับมาบ้านก็รู้สึกว่าโอเคมาก เหมือนได้รีเฟรซตัวเอง ได้ผ่อนคลายบ้าง ลูกเองก็ปรับตัวได้ดี พอได้ลองพาออกไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เขาก็ชอบนะคะ ดูสนุกดี พอเราเห็นลูกมีความสุข เราก็รู้สึกดีไปด้วย จากที่คิดว่าเราคงจะไม่ได้ไปไหนเลย กลายเป็นพาลูกออกไปนอกบ้านแทบทุกวันเลยค่ะ แน่นอนว่าเราก็ระวังเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยอยู่แล้ว แค่ไม่ถึงกับปิดตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ชีวิตมันเลยชิลกว่าที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ
"เมคิดว่ามันดีกว่าถ้าเรามองลูกในแบบที่เขาเป็น แล้วค่อยๆ หาทางเลี้ยงดูเขาให้เหมาะกับตัวตนของเขาจริงๆ มากกว่าจะพยายามวางแผนให้เขาต้องเป็นอย่างที่เราคิดไว้แต่แรก"
มองแผนอนาคตในการเลี้ยงลูกอย่างไรต่อจากนี้ถ้าพูดถึงแนวทางการเลี้ยงลูกในอนาคต จริงๆ แล้วเมไม่ได้วางแผนอะไรแบบเป๊ะๆ ไว้เลย อย่างเรื่องพื้นฐานทั่วไป เช่น ความปลอดภัย ความสะดวกสบายในชีวิต หรือการดูแลคุณภาพชีวิตของลูก เรื่องพวกนี้เราก็อยากให้เขามีเหมือนที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกมี แต่พอได้มาเป็นแม่จริงๆ ก็รู้เลยว่าหลายอย่างมันไม่เป็นไปตามที่เคยคิดหรือเคยอ่านไว้ก่อนคลอดเลย เพราะว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมเลยเลือกที่จะไม่คาดหวังมาก แต่รอดูว่าลูกจะเป็นแบบไหน โตมาเป็นยังไง แล้วเราค่อยปรับตัวเรียนรู้ไปพร้อมกับเขาเมคิดว่ามันดีกว่าถ้าเรามองลูกในแบบที่เขาเป็น แล้วค่อยๆ หาทางเลี้ยงดูเขาให้เหมาะกับตัวตนของเขาจริงๆ มากกว่าจะพยายามวางแผนให้เขาต้องเป็นอย่างที่เราคิดไว้แต่แรก ตอนนี้ก็เลยใช้วิธีลุ้นไปวันต่อวันว่าวันนี้ลูกจะมีพัฒนาการอะไร จะหัวเราะ จะจับอะไร จะลุก จะนั่งอะไรยังไงบ้าง มันเป็นความตื่นเต้นเล็กๆ ที่ได้เห็นเขาโตขึ้นวันละนิด และเมเองก็ได้เปลี่ยนไปพร้อมกับเขาทุกวันส่วนเรื่องความคาดหวัง เมไม่ได้ตั้งอะไรไว้เลย หรือถ้ามีก็อาจจะเป็นความคาดหวังในแบบที่ว่าอยากให้เขาปลอดภัยแค่นั้นเลย ไม่ได้อยากให้เขาต้องเก่ง ต้องประสบความสำเร็จอะไรเป็นพิเศษ เพราะแค่เขาเกิดมาอยู่กับเราตอนนี้ แค่นี้ก็รู้สึกว่าเขาเป็นของขวัญที่ดีที่สุดในชีวิตแล้ว เมเองก็จะบอกลูกเสมอว่าไม่ต้องทำอะไรให้แม่ภูมิใจเลย เพราะแม่ภูมิใจตั้งแต่วันที่ลูกเกิดมาแล้วในฐานะคุณแม่มือใหม่ มีอะไรที่รู้สึกว่า ถ้าไม่ได้เป็นแม่เองคงไม่มีวันเข้าใจเรื่องนี้บ้างทุกเรื่องที่คนเป็นแม่พูดกันเลยค่ะ เช่น เป็นแม่มันเหนื่อย เป็นแม่ต้องเสียสละ ไม่ได้นอน แต่พอมาเจอด้วยตัวเองถึงได้รู้ว่าคำว่า ‘ไม่ได้นอน’ มันเหนื่อยจริงๆ แบบที่พูดกัน และความรู้สึกเสียสละก็ลึกซึ้งกว่าที่เคยคิดไว้มาก เพราะเราต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อคนคนหนึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือความรู้สึกว่าตัวตนของเราหายไป เราไม่ได้เป็นตัวเองเหมือนเดิมอีกแล้ว เหมือนต้องทิ้งชีวิตเก่าทั้งหมดไว้ แล้วมีชีวิตใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกคนที่ต้องดูแลตลอดเวลา มันเหมือนกับเราหนักขึ้นกว่าเดิม ต้องทำหน้าที่ของคนสองคนรวมกันในชีวิตเดียว พอเราเจอเรื่องนี้เอง ถึงได้รู้ว่าการเป็นแม่มันสุดอลังการและซับซ้อนขนาดไหน คำพูดไหนก็อธิบายความรู้สึกนี้ไม่หมดจริงๆ ต้องเจอเองถึงจะเข้าใจ**
"มันเป็นความอดทนที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองจะมีได้ขนาดนี้ และรู้สึกว่าความอดทนนี้มันเหมือนสัญชาตญาณของแม่ทุกคน"
แล้วความเป็นแม่ทำให้ค้นพบอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเองบ้างคิดว่าความอดทนของตัวเองนี่แหละ ก่อนหน้านี้คิดว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ และก็เน้นใช้ชีวิตให้มีความสุขแบบไม่เครียดอะไรมาก แต่พอมีลูกชีวิตก็เปลี่ยนไปมาก ต้องอดทนในสิ่งที่ก่อนหน้านี้คิดว่าไม่น่าจะทำได้จริงๆ ต้องอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ลูกได้กินนม ได้มีชีวิตที่แข็งแรงปลอดภัย แม้ว่าง่วงนอนแค่ไหนก็ต้องลุกขึ้นมาเช็กลูก ว่าลูกเป็นอะไรไหม มีอะไรผิดปกติไหมมันเป็นความอดทนที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองจะมีได้ขนาดนี้ และรู้สึกว่าความอดทนนี้มันเหมือนสัญชาตญาณของแม่ทุกคน ที่เมื่อเป็นแม่แล้ว จะพร้อมสู้เพื่อปกป้องและดูแลลูกอย่างเต็มที่จริงๆการมีลูกส่งผลต่อแนวทางการทำงานของช่อง Mayyr หรือเปล่าถ้าถามว่ามีอะไรเปลี่ยนไปไหมหลังมีลูก ก็ตอบได้เลยว่ามีแน่นอนค่ะ เพราะก่อนหน้านี้คอนเทนต์ของเรามีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสวยความงาม ไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว คาเฟ่ หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เราจะถ่ายทอดสิ่งที่เราชอบ ณ ตอนนั้นออกมาเสมอแต่พอมีลูก บทบาทใหม่ก็เพิ่มเข้ามาอย่างชัดเจน คือบทบาทของคุณแม่ ซึ่งมันก็ส่งผลต่อแนวทางการทำงานอยู่พอสมควร เพราะว่าเราเลี้ยงลูก 24 ชั่วโมง ก็ไม่ได้มีอิสระหรือเวลาเหมือนเดิม อย่างเช่นแต่ก่อนที่อยากไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้ถ้าจะไปไหนก็ต้องคิดเยอะขึ้น หรือเลือกแค่ที่ที่เดินทางใกล้ๆ และเหมาะกับลูกมากกว่ากลายเป็นว่าคอนเทนต์ที่เคยเป็นแนวท่องเที่ยวหรือไลฟ์สไตล์แบบเดิมๆ มันก็ต้องเบนเข็มเข้ามาอยู่ในโลกของการเป็นแม่มากขึ้น คอนเทนต์เรื่องลูก เรื่องครอบครัว การดูแลตัวเองและลูกก็เลยเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสิ่งที่เราทำแบ่งเวลาเวลาระหว่างการเลี้ยงลูกและการทำงานอย่างไรบ้างโชคดีที่งานของเราเป็นงานที่ยืดหยุ่น เลยสามารถเลือกได้ว่าจะทำช่วงไหน เว้นช่วงไหน เช่น ตอนที่ลูกหลับ เราก็อาจจะได้เวลามานั่งตัดต่อ หรือตอบงานบ้าง แล้วพอลูกตื่นก็กลับไปดูแลลูกต่อ เป็นจังหวะที่เราปรับได้ตามสถานการณ์หลายคนบอกว่า ‘โตมากับเมอา’ เหมือนผ่านช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตไปพร้อมกัน รู้สึกยังไงบ้างกับคำพูดนี้รู้สึกดีใจและซึ้งใจมากค่ะ ที่มีหลายคนโตมากับเมมาตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นนักศึกษา จนถึงวันนี้ เหมือนเดินมาข้างๆ กันมาตลอด เห็นกันมาตั้งแต่สมัยแต่งหน้ารับปริญญา ไปเที่ยว ทำคาเฟ่ แต่งงาน มีลูก เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตกันมาเรื่อยๆ มีญาติสนิทมิตรสหายในโลกออนไลน์ที่คอยสนับสนุนและแสดงความยินดีเส้นทางชีวิตเราตลอด เหมือนชุมชนที่คอยเติมเต็มความสุขและกำลังใจให้กันผ่านทางคอมเมนต์ หรือบางทีก็มาเจอกันข้างนอกแล้วแสดงความยินดีด้วย ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจมากค่ะถ้าจะให้นิยามตัวเองตอนนี้ว่ากำลังทำหน้าที่อะไรอยู่ถ้าจะให้นิยามตัวเอง ก็คงต้องบอกว่าเมเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ค่ะ ที่ยังมีบทบาทเป็นยูทูบเบอร์อยู่ แต่บทบาทหลักคือการเลี้ยงลูก ส่วนยูทูบกับงานอื่นๆ ก็เป็นเหมือนพาร์ตเสริมที่เรายังพยายามประคับประคองไว้ให้อยู่ในจุดที่ทำแล้วมีความสุข ไม่กดดันตัวเองเกินไปค่ะ
"เราเองก็เป็นแม่ครั้งแรก แต่ลูกเขาก็เพิ่งเคยใช้ชีวิตครั้งแรกเหมือนกัน มันคือการเรียนรู้ไปพร้อมกัน"
สุดท้าย อยากบอกหรือให้กำลังใจอะไรคุณแม่มือใหม่ด้วยกันก็อยากจะบอกว่าทุกๆ เรื่องมันจะผ่านไป เพราะว่าการเลี้ยงลูกแต่ละวันมันไม่เหมือนเดิม ถ้าเรารู้สึกว่าต้องเจอเรื่องนี้อีกนานแค่ไหน เราต้องตื่นทุกชั่วโมงอีกนานแค่ไหน ก็อยากบอกว่ามันจะผ่านไปจริงๆ ค่ะ เพราะว่าทุกอย่างมันจะผ่านไปไวมาก เมเข้าใจเลยว่าในช่วงวันแรกๆ ทุกอย่างมันเหมือนยาวนานมาก 1 วันที่มี 24 ชั่วโมง แต่มันยาวนานเหมือนเป็นเดือน เพราะว่าเราทรมาน เรารอให้มันผ่านไป มันเลยรู้สึกว่าทุกอย่างมันยืดออกไปหมดเลย แต่พอมันลงตัวแล้ว ก็จะแป๊บเดียวเลยไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าศักยภาพของร่างกายมนุษย์และจิตใจเราจะสามารถหาทางปรับตัวได้ และเมื่อมันลงตัว ทุกวันมันจะผ่านไปเร็วมาก แล้วมันจะมีวันที่ฟ้าสว่างจริงๆ ค่ะ ใช้คำนี้เลย เพราะว่าวันที่ฟ้ามืด เราจะรู้สึกว่าเมื่อไหร่ฟ้าจะสว่างสักทีนะ หาทางออกไม่เจอ วนลูปกับเรื่องเดิมตลอดเวลา แต่สุดท้ายแล้วมันจะมีวันนั้น วันที่เราลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ยิ้มแย้ม ฟ้าสดใส มันอาจเร็วหรือช้าต่างกันไปในแต่ละคน แล้ววันหนึ่งลูกก็จะโต พอถึงวันนั้น เส้นทางที่เราผ่านมาทั้งหมด มันก็จะกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำสำคัญที่ทำให้เราโตขึ้น เป็นสิ่งที่สอนเราและเป็นสิ่งที่สร้างความผูกพันกับลูก เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ลูกที่โต เราเองก็โตขึ้นด้วย เราโตไปพร้อมกับลูกจริงๆ เพราะเราเองก็เป็นแม่ครั้งแรก แต่ลูกเขาก็เพิ่งเคยใช้ชีวิตครั้งแรกเหมือนกัน มันคือการเรียนรู้ไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้อดทนนะคะ ทุกอย่างมันเป็นแค่เรื่องชั่วคราว แล้วเดี๋ยวมันจะผ่านไป เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคน เข้าใจและอยากจับมือกับคนท้องทุกท่านที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางนี้ แล้วก็บอกว่า สู้ๆ นะคะ สู้ไปด้วยกัน เราจะไม่ได้เหนื่อยคนเดียวค่ะสัมภาษณ์วันที่ 17 มิถุนายน 2568**