กำไรอุตสาหกรรมจีนทรุด เจอทั้งพิษกำแพงภาษีสหรัฐฯ และ ‘สงครามราคา’ ในประเทศที่รุนแรงขึ้น คาดภาครัฐจ่อ ‘ปฏิรูปฝั่งอุปทาน’ รอบใหม่
กำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนหดตัวลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงแรงกดดันมหาศาลที่เศรษฐกิจอันดับสองของโลกกำลังเผชิญ ทั้งจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ และที่สำคัญคือ ‘สงครามราคา’ ภายในประเทศที่รุนแรงขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.ค.) ระบุว่ากำไรภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนลดลง 4.3% จากปีก่อนหน้า และส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้กำไรโดยรวมลดลง 1.8% การหดตัวอย่างต่อเนื่องนี้สะท้อนถึงแรงกดดันด้านส่วนต่างกำไรที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและภาวะเงินฝืดในภาคการผลิต
ปัญหาดังกล่าวรุนแรงถึงขนาดที่ผู้นำสูงสุดอย่าง สี จิ้นผิง ได้ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาในการประชุมเมื่อต้นเดือนว่า “เมื่อพูดถึงโครงการใหม่ๆ ก็มักจะเป็นเรื่องเดิมๆ ไม่กี่อย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์, พลังการประมวลผล และรถยนต์พลังงานใหม่ แล้วทุกมณฑลจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านเหล่านี้ทั้งหมดเลยหรือ”
คำถามนี้สะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลปักกิ่งต่อ ‘ภาวะกำลังการผลิตล้นตลาด’ ซึ่งเป็นต้นตอของการแข่งขันตัดราคาอย่างดุเดือดและซ้ำเติมแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืด ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงต่างออกมาเตือนถึงการแข่งขันที่ไร้ระเบียบ จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการปฏิรูปฝั่งอุปทานรอบใหม่
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้มี ‘เดิมพันที่สูงขึ้น’ และยากกว่าการปฏิรูปในปี 2015 มาก เนื่องจากในอดีตปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่รัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ ทำให้รัฐบาลสามารถสั่งลดกำลังการผลิตจากบนลงล่างได้ง่าย แต่ปัจจุบันปัญหากลับกระจายวงกว้างไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างเทคโนโลยีสีเขียวและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น
นีล เชียริง จาก Capital Economics ชี้ว่า รัฐบาลปักกิ่งกำลังเผชิญ ‘ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ เพราะในด้านหนึ่ง “ต้องการควบคุมสงครามราคาและป้องกันการเกิดบริษัทซอมบี้” แต่ในอีกด้านหนึ่ง “ก็ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดใหม่และเพิ่มการพึ่งพาตนเอง” ซึ่งเป็นสองเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน
สำหรับบริษัทซอมบี้เป็นคำเปรียบเทียบธุรกิจที่ติดชะงักกับปัญหาด้านการเงิน ไม่มีกำไร แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการให้อยู่รอดไปได้ บริษัทพวกนี้ยังสามารถจ่ายค่าแรง ค่าเช่า จ่ายดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้มีเงินสดเหลือพอที่จะไปลงทุนหรือสร้างการเติบโตต่อไปได้
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า คำสั่งจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ได้ “ความจริงก็คือจีนจำเป็นต้องปรับสมดุลเศรษฐกิจ ไม่ใช่ผ่านกฎระเบียบหรือการชี้นำการลงทุน แต่โดยการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างไปสู่การบริโภคที่สูงขึ้นและการออมที่ลดลง” เชียริงกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์จาก Morgan Stanley เตือนว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คือการใช้มาตรการบังคับลดกำลังการผลิตโดยไม่มีนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ที่เพียงพอ ซึ่งอาจนำพาเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่ลึกยิ่งขึ้นในระยะยาวหลังจากราคาปรับตัวดีขึ้นเพียงชั่วคราว การแก้ปัญหานี้จึงจำเป็นต้องอาศัย ‘ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง’ อย่างจริงจัง
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-07-27/china-s-industrial-profits-drop-for-second-month-amid-price-wars
- https://www.reuters.com/world/china/chinas-industrial-profits-fall-further-june-2025-07-27/
- https://www.wsj.com/economy/beijing-pivots-to-rein-in-excess-capacity-amid-squeezed-industrial-profit-44dd920b