ปราสาทตาเมือนเป็นของไทย
วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ปราสาทตาเมือนธม รอยต่อไทย-กัมพูชา กลายเป็นเวทีร้อนระอุ ทหารไทยกับทหารกัมพูชาปะทะด้วยวาจา เสียงตะโกนลั่นจนก้องโบราณสถาน นักท่องเที่ยวตื่นตกใจเร่งหนีออกจากพื้นที่ โชคดีที่ไม่มีการลั่นไก ไม่มีการชักอาวุธ ความตึงเครียดจบลงด้วยการเจรจา แม่ทัพภาค 2 พล.ท.บุญสิน พาดกลาง รีบออกมายืนยันว่า “สถานการณ์ปกติแล้ว อย่าตื่นตระหนก”
หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุ สมเด็จฮุน เซน ผู้นำกัมพูชาผู้ครองอำนาจยาวนาน ลั่นกลางที่ประชุมวุฒิสภากัมพูชา: "กัมพูชาพร้อมทำสงคราม หากไทยสร้างรั้วรอบปราสาทตาเมือนธม" ไม่เพียงเท่านั้น เขายังโยนข้อกล่าวหาร้ายแรงใส่ไทยว่า ข่มขู่จะบุกถึงพระตะบอง เสียมราฐ และแม้แต่พนมเปญ คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการปกป้องอธิปไตย แต่คือ การปลุกกระแสชาตินิยมอย่างโจ่งแจ้ง เพื่อกระตุ้นอารมณ์คนกัมพูชา ในเวลาที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังป่วยหนัก
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กัมพูชาหยิบประเด็น “ชายแดน” มาเป็นเครื่องมือ ฮุน เซนรู้ดีว่า ยามเศรษฐกิจย่ำแย่ ปากท้องประชาชนลำบาก มาตรการแข็งกร้าวตอบโต้ไทยย่อมสร้างภาพผู้นำผู้กล้า ที่พร้อมยืนหยัดเพื่อศักดิ์ศรีชาติ แม้ต้องแลกด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากการปิดด่าน งดซื้อสินค้าไทย ไปจนถึงตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต น้ำมัน—มาตรการเหล่านี้เป็นมากกว่าการค้า แต่คือ สัญลักษณ์ของการต่อต้านศัตรูสมมติ
ข้อเท็จจริงที่กัมพูชาเลือกจะไม่พูด
ปราสาทตาเมือนธม ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของไทยตั้งแต่ปี 2478 โดยกรมศิลปากร หลักฐานใน ราชกิจจานุเบกษา ปี 2494 ระบุชัด พื้นที่นี้อยู่ในเขตอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าคุ้มครองที่กำหนดโดยกฎหมายไทย
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ไทยพบ หลักหมุดเขตป่าคุ้มครองห่างจากปราสาทเพียง 7 กิโลเมตร ยืนยันอีกชั้นว่าพื้นที่นี้ลึกเข้ามาในดินแดนไทย ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนตามที่ถูกสร้างภาพ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้คือกำแพงสกัด “วาทกรรมปลุกไฟ” ของฮุน เซน แต่เสียงชาตินิยมที่ถูกปล่อยออกไปแล้ว…ใครจะหยุดได้
นี่คือเกมที่กัมพูชาถนัด คือใช้ความขัดแย้งชายแดนเป็นเวทีสร้างความชอบธรรมภายในประเทศ มาช่วยกันสื่อสาร ยืนยันว่าปราสาทตาเมือนเป็นของไทยให้ดังๆกันเถอะ