330 ล้านเหยื่อทรายทมิฬ
แม้จะเป็นสสารแบบเม็ดขนาดเล็ก แต่พิษสงของมันนั้นร้ายเหลือ จนเกินคำกล่าวว่า “เล็กพริกขี้หนู” เสียอีก เพราะว่ามันมีขนาดเล็กกว่าพริกขี้หนูอย่างเทียบกันไม่ติด แต่พิษร้ายของมันนั้นอย่างบอกใครเชียว
นั่นคือ “ทราย” ที่ตามคำนิยามของมันนั้นก็คือ หินแข็งที่แตกแยกออกมาจากหินก้อนใหญ่ จนมีขนาดเป็นสสารแบบเม็ดขนาดเล็กที่ว่า
ด้วยความที่มีขนาดเล็กดังกล่าว ทรายจึงสามารถถูกลมแรงๆ หรือพายุ หอบพัดพาไปยังที่ต่างๆ ได้ จนเป็นปราฏการณ์ที่เรียกว่า “พายุทราย (Sand Storm)”
ทั้งนี้ ทรายที่ถูกพายุพัด ก็หาได้ไปแต่เพียงเฉพาะทรายอย่างเดียวไม่ ทว่า ยังมี “ฝุ่น (Dust)” ที่ถูกกระแสลมพายุหอบพัดพาร่วมทางไปกับทราย อย่างแทบชนิดเป็นของคู่กันไปโดยปริยายอีกต่างหาก
ด้วยประการฉะนี้ ทั้งทราย ทั้งฝุ่น ที่ไปกับกระแสลมพายุข้างต้น ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผุ้คน และสภาพภูมิประเทศ หลังจากที่ทั้งทรายและทั้งฝุ่นเหล่านี้ ไปจมกองอยู่ เมื่อสิ้นกระแสแรงลม
สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็สร้างความวิตกกังวลให้แก่ “องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอ็มโอ” (WMO : World Meteorological Organization) ซึ่งเป็นหนึ่งในทบวงการชำนัญพิเศษ หรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางของ “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” ที่มีหน้าที่ดูแลด้านสภาพอากาศ หรืออุตุนิยมวิทยา ตลอดจนภูมิศาสตร์ทางกายภาพในแขนงที่เกี่ยวข้อง อันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยทางองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์พายุทรายและฝุ่น ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลก ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ในหลายพื้นที่ของโลกเราด้วย ตลอดช่วงหลายปีเป็นต้นมา
ก่อนที่จะมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบของพายุทรายและฝุ่นข้างต้น แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีเอ ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ในมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในรายงานขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุว่า ประชากรพลเมืองโลกจำนวนมากกว่า 330 ล้านคนในพื้นที่ 150 ประเทศทั่วโลก ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากพายุทรายและฝุ่นที่พัดกระหน่ำจากผืนทะเลทรายเข้าไปยังชุมชนเมืองต่างๆ จนกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพของพวกเขา
ทั้งนี้ฝุ่นละอองจากทรายที่พายุหอบพัดพาเข้าไปยังชุมชนเมืองของมนุษย์เรานั้น ตามการประเมินของ “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” (WHO : World Health Organization) หรือที่ใครหลายคนเรียกกันสั้นๆ ว่า “ฮู” นั้น ทาง “องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก” ก็ได้หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงกับรายงานของทางองค์กรฯ ว่า เป็นระดับฝุ่นละอองที่มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน หรือเกณฑ์ความปลอดภัยของมนุษย์ หรือแม้กระทั่งสัตว์ต่างๆ ที่ได้รับ
โดยพิษร้ายของฝุ่นละอองที่ว่านั้น เอาเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์เรา ก็ทำให้มนุษย์ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยโรคร้ายนานาชนิด ไล่ไปตั้งแต่โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หืด หอบ ปอดติดเชื้อ ไปจนถึงวัณโรค และโรคที่เกี่ยวกับระบบอวัยวะหัวใจ ตลอดจนโรคหลอดเลือด ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวกับสมอง
ทางองค์การอนามัยโลก ยังระบุด้วยว่า โรคร้ายจากฝุ่นละออดังกล่าว ได้กลายเป็นมัจจุราช หรือเพชฌฆาต ที่ประหัตประหารชีวิตมนุษย์เราเฉลี่ยปีละ 7 ล้านคน หรือ 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกันปีต่อปี
พร้อมกันนี้ นางอันเดรอา เซเลสเต เซาโล เลขาธิการแห่งองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวขณะเผยแพร่รายงานของดับเบิลยูเอ็มโอที่เธอเป็นเลขาธิการ ในที่ประชุมยูเอ็นจีเอ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พายุทรายและฝุ่น มิได้หมายถึงเพียงแค่ “หน้าต่างสกปรกและท้องฟ้าหมองมัว” เท่านั้น แต่ทว่า พายทรายและฝุ่นดังกล่าว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพลเมืองจำนวนนับร้อยล้านคน
นอกจากนี้ พายุทรายและฝุ่น ก็ยังสร้างความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่ทำให้เกิดภาวะชะงักงันในด้านการขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ กิจกรรมทางการเกษตร ตลอดจนการผลิตพลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์
ขณะที่ นางลอรา แพตเตอร์สัน ตัวแทนขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก ก็ระบุว่า ฝุ่นละอองอันเกิดจากพายุทราย ถูกหอบพัดพามาคิดเป็นอัตราเฉลี่ยนก็ราวๆ 2 พันล้านตันต่อปี เทียบได้กับมหาพีระมิดแห่งกิซาในอียิปต์ถึง 300 แห่ง โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เช่น อียิปต์นั้น ก็เผชิญกับฝุ่นละอองจากพายุทรายจำนวนมากกว่าร้อยละ 80 ของโลก ซึ่งทรายและฝุ่นเหล่านี้ ก็มาจากทะเลทรายทั้งในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และแอฟริกากลาง
นางแพตเตอร์สัน ยังกล่าวอีกว่า ทรายและฝุ่นจากพายุทรายข้างต้น มันยังส่งผลกระทบในระดับโลกด้วย จากการที่มันสามารถเดินทางข้ามทวีปและมหาสมุทรได้ไกลนับพันกิโลเมตร
ดังนั้น ตลอดระยะทางที่ทรายและฝุ่นจากพายุทรายหอบพัดพาฟุ้งกระจายไป ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกประชากรจำนวนมากกว่า 330 ล้านคน ในพื้นที่ถึง 150 ประเทศทั่วโลกตามที่รายงานระบุไว้ข้างต้น
เช่นเดียวกับ กับถ้อยแถลงของนายฟิลเลอมอน ยาง ประธานการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีเอ สมัยที่ 79 ที่ออกมากล่าวเน้นย้ำ ถึงพิษภัยของพายุทรายและฝุ่นตามรายงานของดับเบิลยูเอ็มโอว่า เรื่องทรายและฝุ่นจากพายุทราย กำลังกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ท้าทายระดับโลก แต่ปรากฏว่ากลับถูกมองข้ามมากที่สุด แม้ว่ามันจะส่งผลกระทบโลกเราเป็นวงกว้างก็ตาม
ดังนั้น ทางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีเอ สมัยที่ 79 นี้ จึงกำหนดให้เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้เป็น “วันต่อต้านพายุทรายและฝุ่นสากล” พร้อมกันนั้นก็ยังกำหนดให้ระหว่างช่วงปี 2025 – 2034 (พ.ศ. 2568 – 2577) เป็นทศวรรษแห่งการต่อต้านพายุทรายและฝุ่นของสหประชาชาติ แบบยกระดับขึ้นสู่ระดับโลก หรือนานาชาติ ในการรับมือกับปัญหานี้กันเลยทีเดียว