ETDA เปิด 4 ประกาศใหม่ คุมตลาดสินค้าออนไลน์-Ride Sharing
ETDA เปิด 4 ประกาศใหม่ ภายใต้กฎหมาย DPS เสริมกลไกดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘ตลาดสินค้าออนไลน์-Ride Sharing’
[caption id="attachment_184697" align="aligncenter" width="1000"]
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)[/caption]
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เปิดเผยว่า ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) ได้ดำเนินการจัดทำร่างประกาศ ที่เป็นกฎหมายลูกภายใต้กฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเสริมศักยภาพกลไกการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส ปลอดภัย เป็นธรรม มีมาตรการในการดูแลเยียวยาผู้ใช้บริการสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยเมื่อเร็วนี้ๆ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ประกาศทั้งหมด 4 ฉบับ ภายใต้กฎหมาย DPS ที่ครอบคลุมทั้ง บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าออนไลน์ และประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ (Ride Sharing) ดังนี้
1. ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ธพด. 4/2568 เรื่องกำหนดรายชื่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (มีผลบังคับใช้ 9 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป) สาระสำคัญคือ
การประกาศรายชื่อแพลตฟอร์มประเภทตลาดสินค้า (Online Marketplace) ที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ ความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และมีผลกระทบในระดับสูง ตามมาตรา 18 (2) จำนวน 19 แพลตฟอร์ม ได้แก่
- ช้อปปี้ (Shopee)
- ลาซาด้า (Lazada)
- วันทูคาร์ (One2car.com) – ประกาศซื้อขายรถยนต์มือสอง
- แกร็บ (Grab)
- ขายดี (Kaidee.com)
- เอสไอเอ อี-อ๊อกชันซิสเต็ม (SIA E-AUCTION SYSTEM)
- ไลน์ช้อปปิ้ง (LINE SHOPPING)
- อาลีบาบา (Alibaba)
- น็อกน็อก (NocNoc)
- อาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress)
- ดิสช็อป (Thisshop)
- รักเหมา (Rakmao)
- เถาเป่า (Taobao)
- เอสซีจี โฮม (SCGHome)
- วันสยาม แอปพลิเคชัน (ONESIAM Application)
- เรดดี้พลาสติก อ็อกชัน (ReadyPlastic Auction)
- รูทส์แพลตฟอร์ม (ROOTS Platform)
- เทอมู (TEMU)
- อีเบย์ (eBay) เป็นต้น
ซึ่งแพลตฟอร์มตามรายชื่อข้างต้น ถือเป็นแพลตฟอร์มประเภทตลาดสินค้าออนไลน์ที่เข้าข่ายมี ความเสี่ยงสูงและอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ที่มีมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มจากการให้บริการในราชอาณาจักรเกิน 100 ล้านบาท/ปี หรือ ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือ DBD และมีจำนวนผู้ประกอบการในราชอาณาจักรตั้งแต่ 100 ราย หรือ ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือ DBD และมีจำนวนผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรเกินกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกินร้อยละ 10 (เฉลี่ยต่อเดือน)
หรือ ผู้ใช้บริการสามารถกระทำการใดโดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณชนในรูปแบบข้อความหรือการกระทำ เป็นต้น โดยพิจารณาจากข้อมูลการประกอบธุรกิจที่แพลตฟอร์มแจ้งเข้ามาที่ ETDA ซึ่งทั้ง 19 แพลตฟอร์ม นอกจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย DPS แล้ว จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 20 ได้แก่ มีหน้าที่ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งมีมาตรการการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว และการดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เช่น
การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ขายก่อนอนุญาตให้มีการขายหรือโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้า, การตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนอนุญาตให้มีการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้า พร้อมทั้งแสดงข้อมูลดังกล่าวบนหน้าร้านค้า, การให้มีกลไกการแจ้งเตือนและนำออกสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และบทลงโทษต่อผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัลอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม หาก ETDA พบว่าเข้าเกณฑ์ก็จะมีการประกาศรายชื่อเพิ่มต่อไป ตามที่มาตรา 24 ที่กำหนดให้ต้องมีการ “ทบทวนรายชื่อ” แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นประจำทุกปี ซึ่งหมายความว่า รายชื่ออาจมีการ เพิ่ม ลด หรือปรับเปลี่ยน ได้ตามลักษณะการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป
2. ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การดำเนินการอื่นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (2) แห่ง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2568 (มีผลบังคับใช้ 31 ธันวาคม 2568) สาระสำคัญคือ
การกำหนดหน้าที่เพิ่มเติม ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า (Online Marketplace) ที่เป็นพื้นที่กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (2) ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและพานิชย์ ที่ความเสียหายอาจกระทบต่อสาธารณะ และมีผลกระทบในระดับสูง จะต้องหน้าที่เพิ่มเติมภายใต้ประกาศฉบับนี้ เช่น
เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม, การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการด้วยระบบที่น่าเชื่อถือ ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลตามความเหมาะสม, การตรวจสอบการขายหรือการโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้า แจ้งเตือนผู้ประกอบการเกี่ยวกับการขายสินค้า การลบ ระงับ หรือปิดกั้น สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การแสดงข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด แสดงใบจดแจ้ง หรือ หลักฐานการรับรองมาตรฐาน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมอ. อย.
อีกทั้งการรายงานผลการดำเนินการต่อหน่วยงานรัฐ จัดให้มีกระบวนการแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Take down) ต้องแจ้งเตือน และระงับการแสดงรายการสินค้า ชื่อผู้ขาย และดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และแจ้งหน่วยงาน ภายใน 3 วัน มีบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น ยุติหรือระงับการให้บริการ พร้อมมีมาตรการดูแลเยียวยาผู้เสียหาย เป็นต้น
3. ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การดำเนินการอื่นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ ที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (3) แห่ง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2568 (มีผลบังคับใช้ 2 ตุลาคม 2568) สาระสำคัญคือ
การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ (Ride Sharing) ต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากหน้าที่ทั่วไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องจัดให้ผู้ขับรถบริการด้วยรถที่จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ และต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ตามเงื่อนไขของกรมการขนส่งทางบก, ต้องจัดเก็บค่าบริการตามอัตราที่กฎหมายกำหนด, จัดให้มีบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในส่วนของผู้ขับ ที่อย่างน้อยๆ ต้องมีการตรวจสอบผู้ขับ จัดเก็บข้อมูล มีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้ขับรถบริการ เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัว หมายเลขใบอนุญาตขับรถสาธารณะ เลขทะเบียนรถ จังหวัดที่จดทะเบียน, ใช้ ThaID ของกรมการปกครองช่วยพิสูจน์ตัวตนผู้สมัครขับรถในกรณีที่สมัครแบบไม่เจอหน้า,
ต้องมีการยืนยันตัวตนคนขับทุกครั้งที่ใช้งานแพลตฟอร์มในการให้บริการ และเมื่อคนขับให้บริการในแต่ละครั้งต้องแสดงข้อมูล เช่น ชื่อคนขับ เลขใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ข้อมูลรถ ตำแหน่ง GPS รถที่ให้บริการ, เมื่อผู้ใช้เรียกรถและกำหนดสถานที่รับส่งแล้ว ต้องแสดงข้อมูล ตำแหน่งสถานที่รับส่ง ระยะทาง เส้นทาง ระยะเวลาเดินทาง อัตราค่าโดยสาร, ผู้ขับต้องสามารถเลือกรับงาน ยกเลิกงาน หรือเลือกยอมรับการเปลี่ยนจุดหมายปลายทางระหว่างไปรับคนโดยสาร, มีช่องทางในการขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังแพลตฟอร์มได้ทันที และต้องมีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการให้บริการ, มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูล การพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ให้บริการที่เรียกรถ และต้องสามารถเลือกประเภทรถยนต์รับจ้าง
ด้านวิธีการชำระค่าบริการ มีช่องทางในการติดต่อคนขับได้ในระหว่างที่เดินทางมารับ โดยไม่แสดงข้อมูลส่วนบุคคลให้อีกฝ่ายทราบ เว้นแต่ชื่อ รูปถ่ายของผู้ขับ, ต้องมีมาตรการกำกับดูแลผู้ขับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้รถสาธารณะ เช่น ให้บริการในพื้นที่ที่กำหนด ไม่นำบัญชีผู้ใช้บริการไปให้ผู้อื่นใช้งาน, มีการตรวจสอบ และติดตามผู้ขับที่กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย มีมาตรการในการลงโทษที่กำหนดในเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจน และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ และต้องยื่นรายงานการดำเนินงานตาม มาตรา 22 ต่อกรมขนส่งทางบกและ ETDA พร้อมรายงานประจำปี ต่อเนื่องทุกปีตามที่กฎหมายกำหนด
4. ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ธพด. 2/2568 เรื่องกำหนดบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 21 แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป) มีสาระสำคัญคือ
กำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภท Ride Sharing ตามมาตรา 18 (3) ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม พลังงาน การสื่อสารและโทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์ และสาธารณูปโภค มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 21 ที่ต้องมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยง มีมาตรการการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว และการดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการร่วม
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดประกาศฉบับเต็มทั้ง 4 ฉบับ รวมถึงติดตามรายละเอียดประกาศ และคู่มือต่างๆ ภายใต้กฎหมาย DPS ได้ที่เว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/law.aspx สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-123-1234 (ติดต่อทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS)