“เหล้าแป้” ของดีจังหวัดแพร่ สร้างรายได้แล้วกว่า 3,600 ล้านบาท
“เหล้าแป้” ของดีจังหวัดแพร่ สร้างรายได้แล้วกว่า 3,600 ล้านบาท หลังรัฐบาลเดินหน้า สร้างโอกาส ยกระดับสินค้าแปรรูปภาคการเกษตรขึ้นทะเบียน GI แล้ว
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2568) นายอนกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าการแข่งขันพร้อมยกระดับสินค้าแปรรูปภาคการเกษตร รัฐบาล โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการยกระดับสินค้าด้านการเกษตร ผ่านการประกาศขึ้นทะเบียน “เหล้าแป้” สุราพื้นบ้าน ให้เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดแพร่ ต่อจากสินค้าผ้าหม้อห้อมแพร่ และส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง
นายอนุกูล กล่าวว่า “เหล้าแป้” เป็นสุรากลั่น ประเภทสุราขาว ด้วยลักษณะจุดเด่นที่มีการกลั่นจากน้ำส่าหรือน้ำสุราแช่ ที่ได้มาจากการหมักข้าวด้วยลูกแป้ง ผ่านกระบวนการหมักด้วยสมุนไพรท้องถิ่นหลายชนิด และในขั้นตอนการกลั่นสุรา ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์แบบร้อนชื้น จึงทำให้มีผลกระตุ้นต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ท้องถิ่น ส่งผลทำให้เหล้าแป้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว และมีความโดดเด่น อาทิ มีรสชาติที่เผ็ดร้อน หรือนุ่มละมุน มีความใส ไม่มีสี ไม่มีตะกอน และมีกลิ่นหอม นอกจากนี้ความโดดเด่นของเหล้าแป้ ไม่เพียงแต่รสชาติที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แต่ด้วยขั้นตอนการทำยังถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นับวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ ที่ได้รับการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทำให้เหล้าแป้จึงเป็นสุราที่มีทั้งเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคสุราพื้นบ้านทั่วประเทศ จนมีประโยคที่ว่า “เหล้าที่ดีที่สุด คือ เหล้าแป้” อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเหล้าแป้ได้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าและอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดแพร่ ไปแล้วกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี
“การยกระดับสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับเกษตรกร ผ่านการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและการแปรรูป ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการค้าให้ภาคการเกษตร ผ่านการยกระดับสินค้าไทยด้วยการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญเพื่อขยายตลาดการส่งออกทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุกูล ระบุ