น่าห่วง ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุพุ่งเกือบ 52% ในรอบ 10 ปี
19 กรกฎาคม 2568 นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ข้อมูลจากระบบบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน จำนวนผู้เสียชีวิตในระยะเวลา 10 ปี รวม 190,289 ราย เฉลี่ย 19,029 รายต่อปี อัตราเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 29 ต่อแสนประชากร โดยพบคนวัยหนุ่มสาวอายุ 15 – 29 ปี ครองสถิติการเสียชีวิตสูงสุดแต่มีแนวโน้มลดลง
ในขณะที่ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) กลายเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2558 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 2,834 เพิ่มขึ้นเป็น 4,307 ราย ในปี 2567 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51.8 ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้เป็นผู้ขับขี่เอง และพาหนะที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุสามารถขับขี่ได้แต่ต้องทราบข้อจำกัดของสภาพร่างกายตนเองและปรับแก้ไข หรือจำกัดการขับขี่นั้นให้มีความปลอดภัย สภาพร่างกายเมื่ออายุมากขึ้นจะมีความถดถอยตามวัย โดยเฉพาะสายตา ความจำ การตัดสินใจและกำลังกล้ามเนื้อและเหนื่อยล้าได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว
ดังนั้น ไม่ควรขับขี่ทางไกล เส้นทางไม่คุ้นเคย และเลี่ยงการขับขี่กลางคืน เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้นการมองเห็นจะชัดน้อยลง โดยเฉพาะการมองเห็นในที่แสงสว่างน้อย ความจำ การตัดสินใจและการตอบสนองจะทำได้ช้าลง จึงควรเลือกขับขี่ในเส้นทางที่คุ้นเคยและไม่อันตราย
ด้านนายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวและใช้ยาในการรักษา โรคประจำตัวบางโรคมีผลต่อการขับขี่ เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน สมองเสื่อม โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) โดยโรคเหล่านี้จะมีผลต่อการรับรู้ การตัดสินใจ หรือโรคทำให้มีความเสี่ยงต่อการหมดสติฉับพลัน เป็นผลให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมรถได้
ดังนั้น ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจร่างกายประเมินความพร้อมต่อการขับขี่ และหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหรือใช้ยาในการรักษา แพทย์ผู้รักษาควรให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อการขับขี่ปลอดภัย
แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ ได้กล่าวว่า ผู้สูงอายุหากยังขับขี่ ควรได้รับการตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อมต่อการขับขี่และปรับแก้ไข เช่น การใส่แว่นสายตาในผู้มีปัญหาสายตา การใส่เครื่อง CPAP ขณะนอนหลับในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) หากพบว่าสภาพร่างกายไม่พร้อมควรงดขับขี่ เปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะหรือให้ผู้อื่นขับแทน เพื่อความปลอดภัยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สิน