ประวัติ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ และเบื้องหลังความสำเร็จของ แอลเอ ด็อดเจอร์ส
ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ อาจไม่เป็นที่รู้จักมากมายก่อนเข้าเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอล เชลซี ในปี 2022 แต่สำหรับชาวอเมริกัน ชื่อนี้เป็นชื่อที่แฟนๆ คุ้นเคย โดยเฉพาะสาวก เมเจอร์ลีก เบสบอล และเหล่ากองเชียร์ ลอส แองเจลิส ด็อดเจอร์ส เนื่องจาก โบห์ลี่ย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนที่เ้าเทคโอเวอร์แฟรนไชส์ที่กำลังประสบปัญหาการเงินจนเกือบล้มละลาย
โบห์ลี่ย์ เติบโตมาในครอบครัวที่มีพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจการเงินและการลงทุน เรียนจบจากวิทยาลัย วิลเลี่ยม แอนด์ แมรี่ ซึ่งเป็นวิทยาลัยเอกชนอันเก่าแก่และค่าเทอมราคาสูง จากนั้นเริ่มทำงานในบริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำ ก่อนจะมาที่ กุ๊กเกนไฮม์ พาร์เนอร์ส ในปี 2002 ที่นี่คือสถานที่ที่ทำให้ โบห์ลี่ย์ ทำผลงานอันยอดเยี่ยมในการบริหารจัดการทรัพย์สินและการลงทุน จนได้ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป และทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เวลาต่อมา โบห์ลี่ย์ ก่อตั้ง เอลดริดจ์ อินดัสทรีส์ สร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ สื่อสารมวลชน ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเข้ามาในวงการกีฬา ด้วยความสนใจที่มีต่อกีฬาทั้งบาสเก็ตบอลและฟุตบอล เนื่องจากเชื่อว่าแฟนๆ กีฬาคือหนึ่งในกลุ่มแฟนที่มีศักยภาพสูงและมีความจงรักภักดี
ปี 2012 แอลเอ ด็อดเจอร์ส สุ่มเสี่ยงที่จะล้มละลาย แต่กลุ่มทุนของ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เข้ามาซื้อกิจการ และพลิกโฉมวงการสร้างทีมให้เป็นตำนาน
โบห์ลีย์ และกลุ่มทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในผู้เล่นที่มีศักยภาพสูง ทั้งการดึงดูดนักกีฬาชั้นนำมาร่วมทีม และการพัฒนาผู้เล่นดาวรุ่ง การลงทุนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ค่าเหนื่อย แต่รวมถึงการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา การฝึกซ้อม และการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถทำผลงานได้อย่างเต็มที่
นอกจากผู้เล่น การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกของทีมก็เป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งขัน สิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม หรือเทคโนโลยีที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของทีมโดยรวม
โบห์ลีย์ นำแนวคิดและหลักการบริหารจัดการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้กับการบริหารทีมกีฬา เขามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการสร้างความยั่งยืนให้กับทีม ทั้งในด้านการเงินและความสำเร็จในสนาม การตัดสินใจต่างๆ ล้วนอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนระยะยาว ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารยังเข้าใจถึงความสำคัญของการตลาดและการสร้างแบรนด์ พวกเขาทำงานอย่างหนักเพื่อเชื่อมโยงกับฐานแฟนคลับ ขยายฐานแฟนคลับใหม่ๆ และสร้างความผูกพันระหว่างทีมกับชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทีมและสร้างบรรยากาศที่ดีใน ลอส แองเจลิส ที่จัดเป็นรัฐขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ในที่สุด ด็อดเจอร์ส ก็คว้าแชมป์ เวิลด์ ซีรี่ส์ 2020 หยุดช่วงเวลาการร้างความสำเร็จ 32 ปีจากแชมป์ เวิลด์ ซีรี่ส์ ครั้งล่าสุดเมื่อปี 1988 แต่เป้าหมายของทีมยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่ออีกไปกี่ปีต่อมา ด็อดเจอร์ส ทุ่มทุนดึงตัว โชเฮย์ โอทานิ มาด้วยสัญญา 10 ปีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาอเมริกันในตอนนั้น 700 ล้านเหรียญ (ประมาณ 22,700 ล้านบาท) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเป็นทีมที่ดีที่สุด และยังทุ่มงบประมาณมากกว่า 1 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 32,300 ล้านบาท) ในช่วงเวลาต่อจากนั้นเพื่อสร้างทีมไปสู่ความเป็นสุดยอด
ความพยายามของ โบห์ลี่ย์ และนักลงทุนประสบความสำเร็จอย่างงดงามอีกครั้งในปี 2024 กับแชมป์ เวิลด์ ซีรี่ส์ ที่ร่ำลือกันว่า ไม่ใช่เพียงการโปรยเงินไปกับค่าจ้างผู้เล่นแต่ใช้ข้อมูลสถิติ (Analytics-Based Approach) เพื่อวิเคราะห์ผลงาน และว่าจ้างทีมงานรวมทั้งโค้ชภายใต้ปรัชญาการทำทีมเดียวกัน ไปด้วยกันกับวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมในการทำทีม
แม้ในฤดูกาล 2025 นี่ ด็อดเจอร์ส เป็นทีมที่จ่ายค่าจ้างผู้เล่นแพงที่สุดในลีกถึง 330 ล้านเหรียญ (ประมาณ 10,600 ล้านบาท) แต่ แอนดรูว์ ฟรีดแมน ประธานฝ่ายบิหารจัดการยืนยันว่า แฟรนไชส์พยายามแล้วที่จะเฟ้นหาสุดยอดผู้เล่นพรสวรรค์สูงโดยจ่ายราคาที่จำเป็น อย่างที่เห็นว่าเซ็นสัญญากับ โยชิโนบุ ยามาโมโตะ พิตเชอร์ที่มีความสามารถมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้เล่นรุ่นเดียวกันเข้ามาในฐานะฟรีเอเย่นต์ และยังไม่หยุดที่จะพัฒนาผู้เล่นท้องถิ่นขึ้นมาด้วย
การสร้าง Dynasty ให้กับ แอลเอ ด็อดเจอร์ส ของ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ ยังดำเนินต่อไป สำหรับกีฬาอเมริกันแล้ว ทีมที่ยอดเยี่ยมคือทีมที่แสดงผลงานให้เห็นด้วยการเป็นแชมป์ 3 สมัยซ้อน จากความพยายามอันยาวนานจนตอนนี้มี 2 เวิลด์ ซีรี่ส์ ในมือ แต่เส้นทางการทำ Three-Peat หรือแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันยังอยู่อีกยาวไกล ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า โบห์ลี่ย์ และกลุ่มทุนที่มีเขาเป็นส่วนหนึ่งคือรากฐานของความสำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง