ฟังเรื่องเล่าตำนาน “พญาครุฑ” ขอพรให้สมหวังดังตั้งใจ
ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการมากว่า 70 ปี หลังการรวมกิจการกับธนาคารธนชาตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ครุฑทั้งหมดมากกว่า 150 องค์ ก็ถูกอัญเชิญมารวมกันอยู่ ณ ที่แห่งนี้ “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งแรก และแห่งเดียวของอาเซียน
จากนั้นในปี 2564 ทีเอ็มบี ได้รวมกิจการกับธนาคารธนชาต จนเป็นธนาคารแห่งใหม่ภายใต้ชื่อว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) และยังคงสานต่อคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยได้ปรับปรุงบูรณะพิพิธภัณฑ์ พร้อมเปิดให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ครุฑเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์จุดประกายแหล่งเรียนรู้ ต่อยอดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน
เรื่องราว “พญาครุฑ” สัตว์หิมพานต์ สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และความดีงาม ได้รับการร้อยเรียงเรื่องราวในรูปแบบสื่อผสมผสาน (Multimedia) โดยยึดความเข้าใจพื้นฐานของคนไทยที่มีต่อองค์ครุฑ จากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและพราหมณ์ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ครุฑกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ AR (Augmented Reality) ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ ถูกนำมาใช้กับภาพวาดป่าหิมพานต์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ ณ โถงต้อนรับ ภาพวาดที่มีเหล่าสัตว์ในป่าหิมพานต์บอกเล่าตำนานศึกสายเลือด “ครุฑยุดนาค” หรือ “ครุฑจับนาค” ของพี่น้องต่างมารดาระหว่างครุฑและนาคที่อาศัยอยู่บริเวณป่าหิมพานต์ตีนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อพญานาคลูกของนางกัทรุแปลงเป็นขนม้าอุจไฉศรพจากสีขาวกลายเป็นสีดำ ทำให้นางวินตาทายว่าเป็นสีขาวจึงแพ้พนันตกเป็นทาสของนางกัทรุและเหล่านาค 500 ปี มาถึงความเพียรพยายามของครุฑในการชิงน้ำอมฤตจากพระอินทร์มาให้นาค เพื่อไถ่ถอนการเป็นทาสของมารดา ทำให้นางวินตาเป็นอิสระ จากนั้นนางวินตาขอพรต่อพระกัศยปให้เหล่าครุฑพินพวกนาคได้ ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงจับนาคกินเป็นอาหาร จึงเกิดเป็นภาพครุฑยุดนาคเมื่อครุฑคอยบินโฉบจับเหล่านาคที่อยู่ในมหานทีสีทันดร
ก่อนจะขึ้นไปยังดินแดนหิมพานต์ด้านบน แวะฟังเรื่องเล่าจาก ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมไทย กรมศิลปากร ที่มาอธิบายเรื่องราวของครุฑที่ผูกพันกับคนไทย ทั้งในด้านศาสนาที่มักพบเห็นอยู่บนหน้าบันของโบสถ์ ครุฑที่อยู่ในเอกสารทางราชการ ธนบัตร และยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในฐานะเครื่องราง นอกจากคำบรรยายของผู้เชี่ยวชาญแล้วยังมีแอนิเมชั่นที่เล่าถึงการถือกำเนิดของครุฑที่มีถึง 4 แบบ บ้างเชื่อว่าครุฑเกิดจากครรภ์ (ชลาพุชะ) เกิดจากไข่ (อัณฑชะ) เกิดจากเหงื่อไคล (สังเสทชะ) และเกิดเป็นรูปกายใหญ่โตในทันที (โอปปาติกะ)
ขึ้นชั้น 2 ท่องไปในแดนป่าหิมพานต์ แหล่งกำเนิดของชีวิตน้อยใหญ่ ป่าแห่งนี้มีสระอโนดาต สระน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตที่ไม่มีวันเหือดหาย หากสระน้ำนี้เหือดแห้งลงเมื่อใดกลียุคก็จะมาถึงเมื่อนั้น มีกลิ่นหอมเย้ายวนใจของต้นมักกะลีผล หรือต้นนารีผล ต้นไม้ที่ออกดอกออกผลเป็นหญิงสาววัยแรกรุ่น หน้าตาสะสวย มีกลิ่นหอมติดกายไปตลอด 7 วัน ก่อนจะเน่าสลายไป กระตุ้นให้เหล่าคนธรรพ์ วิทยาธร และเทวดา พากันมาเด็ดดมไปเชยชมยังที่สถิตของตน แรกเริ่มมีเพียง ครุฑ นาค หงส์ สิงห์ และกินรี รวมทั้งเปลือกไข่ขนาดใหญ่ 2 ฟอง หนึ่งคือ พญาครุฑและอีกหนึ่งคือ พระอรุณ คนบังคับม้าของพระอาทิตย์ เทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบนในตอนเกิดเพราะนางวินตา ผู้เป็นมารดารีบร้อนกระเทาะเปลือกไข่ก่อนเวลา
จากนั้นเข้าสู่ “นครนาคราช” เพื่อตามหาหนทางปลดปล่อยมารดาของพญาครุฑ นาคในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จัดเป็นพาหนะขณะบรรทมเหนือเกษียรสมุทรของพระนารายณ์ เทพเจ้าผู้ปกปักรักษาโลก อันได้ชื่อว่า “พญาอนันตนาคราช” น้องต่างมารดาของพญาครุฑมีจำนวน 1,000 ตน นอกจากจะมีสมบัติที่พญานาคปกปักรักษาไว้แล้ว ยังมีภาพ “ครุฑยุดนาค” อยู่อีกด้านด้วย เพราะความโกธรเคืองเรื่องมารดาพญาครุฑจะคอยหาโอกาสโฉบลงจิกพญานาค ก่อนหอบหิ้วไปจิกท้องกินมันเหลวยังป่างิ้วแดนหิมพานต์
เดินต่อเข้าสู่ห้อง “อมตะจ้าวเวหา” กับภาพยนต์แอนิเมชั่นที่ยืนยันถึงความเป็นต้นแบบความดีซึ่งเป็นที่ประจักษ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจ คุณธรรม ความกตัญญูกตเวทิตาและความเสียสละอันยิ่งใหญ่จากเหตุการณ์การฝ่าอุปสรรคนานัปการ เพื่อชิงน้ำอมฤตมาให้พญานาค เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปลดปล่อยมารดาสู่อิสรภาพ แม้จะต้องสละชีวิตของตนก็ตาม พระนารายณ์ที่เสด็จขึ้นจากเกษียรสมุทรเพื่อห้ามปรามพญาครุฑ สรรเสริญความกตัญญูต่อมารดาและความอดทนอดกลั้นอย่างสุดกำลังที่ไม่ลิ้มรสน้ำอมฤตแม้ว่าความเป็นอมตะจะอยู่ตรงหน้า จึงประทานความเป็นอมตะและให้พรสำคัญ คือ การอยู่สูงกว่าพระองค์ “ขอให้ท่านเป็นพาหนะของข้า ร่วมแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่ ขอให้ท่านสถิตอยู่ที่ยอดเสาธงของข้า เพื่อท่านจะได้อยู่สูงกว่าข้า” ด้านบนรอบ ๆ ห้องนี้ยังมีครุฑนับสิบองค์รายล้อมอยู่โดยรอบด้วย
แล้วก็มาถึงไฮไลท์ที่ห้อง “สุบรรณแห่งองค์ราชัน” ที่บอกเล่าเรื่องราวของครุฑกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามความเชื่อนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์เปรียบเป็นอวตารของพระนารายณ์ ครุฑซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์กษัตริย์จึงนำมาใช้เป็นตราแผ่นดินหรือเรียกว่า “ตราครุฑพ่าห์” เริ่มใช้นับตั้งแต่ สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ และในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ครุฑเป็นเครื่องหมายประดับบนธงเรียกว่า “ธงมหาราช” ซึ่งจะถูกชักขึ้น ณ สถานที่ที่ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ตราอาร์มแทนตราแผ่นดินในระยะหนึ่ง แต่ต่อมาทรงดำริว่าตราอาร์มมีความเป็นตะวันตกมากไป จึงทรงพระกรุณาเปลี่ยนมาใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์อีกครั้งหนึ่ง และมีพระประสงค์ให้ใช้พระครุฑพ่าห์นี้เป็นตราแผ่นดินสืบมาจวบจนปัจจุบัน
ไฮไลท์ที่ว่าก็คือ ครุฑไม้แกะสลักองค์ใหญ่จากช่างฝีมือท้องถิ่น อายุกว่า 50 ปี ที่ว่ากันว่าแกะสลักมาจากไม้กฤษณา ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ ณ ธนาคารนครหลวงไทย สาขาหาดใหญ่ ไม่ใช่เพียงความสวยงามขององค์ครุฑ แต่เป็นเพราะเสียงเลื่องลือในหมู่พนักงานและลูกค้าในเรื่องโชคลาภ เงินทอง และหน้าที่การงาน ซึ่งมักกล่าวกันว่า "ขอแล้วได้สมหวัง" สังเกตได้จากผ้าสีที่มาผูกไว้ที่เอวองค์ครุฑ แม้ว่าทางพิพิธภัณฑ์จะแจ้งว่าไม่ให้นำมาผูกแต่ก็ยังมีมาอยู่เนือง ๆ ทั้งที่ย้ำแล้วว่าให้ขอพร ไม่ใช่การบนบาน โดยให้แอบกระซิบบอกถึงสิ่งที่จะขอพรเพียงอย่างเดียว และห้ามมิให้บอกให้ใครได้ล่วงรู้ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบที่เรียกว่าเลขเคลื่อนอย่างที่เคยเกิดกับบางคนมาแล้ว
สุดท้ายคือ “ห้องจัดแสดงครุฑ” เป็นห้องที่รวมครุฑจากทั่วประเทศไว้มากที่สุด แนะนำให้ค่อย ๆ เดินชมแล้วจะเห็นว่าครุฑแต่ละองค์นั้น ล้วนมีลวดลายแกะสลัก เครื่องทรง ไปจนถึงลักษณะของเล็บเท้าที่มีทั้งกางและงุ้มเข้าแตกต่างกัน อย่างครุฑจากสาขาย่านตาขาวที่มีเครื่องทรงแบบเดียวกับมโนราห์ สาขาราชบุรีที่ดูคล้ายกับครุฑที่มักเห็นตามหน้าบันโบสถ์ หรือสาขาเยาวราชที่ใบหน้าละม้ายชาวจีนทั้งยังสวมหมวกแบบฮ่องเต้จีน ที่ว่ากันว่าหากเอากระเป๋าสตางค์ หรือเปิดแอปพลิเคชั่นธนาคารในมือถือแล้วเอาวนลอดข้างใต้ ครุฑที่เคยอยู่ ณ สาขาที่มีเงินไหลเวียนจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน ก็จะช่วยส่งพลังแรงดึงดูดมายังกระเป๋าเงินของผู้ศรัทธาด้วยเช่นกัน
สืบเนื่องจากโอกาสพิเศษในวันที่ 12 สิงหาคม “วันแม่” ทางพิพิธภัณฑ์ครุฑจัดทำ “ผ้ายันต์หัวใจพญาครุฑ ซื่อสัตย์ กตัญญู และความดี หนุนดวงพิชัยสงคราม” ของขวัญพิเศษที่จัดสร้างขึ้นโดยเฉพาะ มีจำนวนจำกัดเพียง 1,111 ชุด เพื่อมอบให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในเดือนสิงหาคมนี้ พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดบริการทุกวันศุกร์และเสาร์ วันละ 3 รอบ ในเวลา 10.00 / 13.00 / 15.00 น. พร้อมผู้นำชม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำกัดผู้เข้าร่วมชมรอบละ 25 ท่าน สามารถจองคิวผ่าน www.ttbfoundation.org/th/garudamuseum และหากเดินทางมาด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส มีบริการรถตู้รับ-ส่งจากสถานีเคหะสมุทรปราการ ถึง พิพิธภัณฑ์ครุฑ วันละ 3 รอบก่อนถึงเวลาเข้าเยี่ยมชม 30 นาที สอบถามเพิ่มเติมโทร. 09 8882 3900 ได้ตั้งแต่วันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. หรือเข้าชมผ่านช่องทางออนไลน์ Garuda Virtual Tour ก่อนกลับอย่าลืมออกมาเก็บภาพกับครุฑขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ซึ่งเคยอยู่บนอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารนครหลวงไทยมาก่อน