รถมือสองยอดหด 28% สมาคมชี้ แบงก์เข้มงวด-รถ EV กระทบหนัก
วันนี้ (20 ก.ค.2568) นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ใช้แล้วในประเทศไทยเผชิญวิกฤตต่อเนื่อง 3 ปี โดยในปี 2567 มีรถยนต์ใช้แล้วเข้าสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 25,000 คัน หรือประมาณ 300,000 คัน/ปี
แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 18,458 คัน หรือหดตัวลงกว่าร้อยละ 28 ด้านยอดขายรถยนต์ใช้แล้วในปี 2566 อยู่ที่ 406,000 คัน ลดลงในปี 2567 เหลือ 316,000 คัน และคาดว่าปี 2568 จะลดลงอีกเหลือ 285,000 คัน หรือลดลงร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการถดถอยของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
สาเหตุหลักมาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากปี 2566 ถึง 2567 กว่าร้อยละ 25 และในปี 2568 ยังลดลงต่อเนื่องอีกร้อยละ 10 สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง สาเหตุอื่นรวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงในตลาดรถยนต์มือหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคารถยนต์ใช้แล้ว นายวิสุทธิ์ระบุว่า การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการ รัฐบาล และสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดทิศทางการฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ยั่งยืน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งเคยเป็นผู้นำในภูมิภาค กำลังเผชิญภาวะชะลอตัว จึงต้องปรับโครงสร้างทั้งระบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกระทรวงการคลังกำลังปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทั้งในรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ต่ำลง สร้างความได้เปรียบในตลาด
สำหรับการฟื้นฟูตลาดรถยนต์ใช้แล้ว นายเผ่าภูมิเน้นว่า ความเชื่อมั่นเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการรับประกันคุณภาพรถผ่านการจัดเกรดโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น มาตรการเหล่านี้คาดว่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นและขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ใช้แล้วให้กลับมาคึกคัก
อ่านข่าวอื่น :
วัดไม่ใช่แค่พิธี เยาวชนเรียกร้องศูนย์เรียนรู้ ฟื้นศรัทธาวงการสงฆ์
ทบ.ยืนยันทุ่นระเบิดชายแดนไม่ใช่ของไทย จวกกัมพูชาให้ข้อมูลเท็จ