โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Forms of Expression นิทรรศการที่ มานิตา ส่งเสริม ไทโปกราฟิกดีไซเนอร์บอกกับทุกคนว่า ตัวอักษรก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากเรา

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

อัพเดต 14 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 14 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

ภาพ: จิตติมา หลักบุญ

ถ้าให้คุณนึกภาพสำหรับคำว่า ‘ตลอดไป’ หรือ always คุณจะวาดภาพออกมาเป็นอย่างไร?

สำหรับมานิตา ส่งเสริม กราฟิกดีไซเนอร์ไทย เธอนำตัวอักษรมาเรียงคู่กับลายเส้นเพื่อสื่อถึงความไม่สิ้นสุด

ผลงานชิ้นนี้ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ Ficciones Typografika มุ่งเน้นการสำรวจตัวอักษรในพื้นที่สาธารณะ จัดโดยอีริก บรันดต์ กราฟิกดีไซเนอร์และศาสตราจารย์ด้านการออกแบบกราฟิกแห่งวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบมินนิอาโปลิส (MCAD)

มานิตาเป็นนักทดลองทางตัวอักษร เมื่อปี 2019 เธอได้ตั้งโจทย์ให้ตัวเองลองใส่ + ลงไปในโปรแกรมทำงานกราฟิก จากนั้นเพิ่มจำนวน + มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นรูปภาพ ก่อนที่เธอจะลองเล่นด้วยการเปลี่ยนฟอนต์ ผลลัพธ์ที่ปรากฏคือเกิดการเคลื่อนไหวของตัวอักษรขึ้น

ความโดดเด่นของมานิตาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหลากหลายงานที่บ่งบอกถึงความสามารถและสายตาอันเฉียบคมในการออกแบบที่มีรสนิยม มานิตาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปกหนังสือไทยหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น การจัดเรียงตัวอักษรใน Revenge เรือนร่างเงียบเชียบ การบอกลาเย็นเยียบน่าขยะแขยง

การนำเส้นด้ายมาขดผสมกับตัวอักษรเพื่อสื่อถึงอารมณ์อันยุ่งเหยิงในหนังสือ ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์

หรือการวาดภาพพอร์ตเทรตในเซ็ตหนังสือของ Toni Morrison

เธอยังออกแบบโปสเตอร์นิทรรศการศิลปะให้กับหอศิลป์กรุงเทพฯ หลายชิ้น หากคุณไปเดินชมงานศิลปะในช่วงนี้อาจจะได้พบกับผลงานของมานิตาก็ได้ เช่น Photography Never Lies ภาพถ่ายไม่โกหก นิทรรศการที่บอกเล่าถึงภาพถ่ายจริงและภาพจาก AI มานิตาจึงออกแบบฟอนต์ให้มีความเป็นพิกเซล

หรือนิทรรศการ RESORT : An exhibition from landscape of rest ที่มานิตาใช้ปากกาสีน้ำเงินวาดเส้นเรียงกันก่อนจะนำมาทำเป็นโปสเตอร์ในคอมพิวเตอร์

หรือโปสเตอร์ CROSSOVER II : THE NATURE OF RELATIONSHIPS นำเสนอผลงานภาพอันประณีตของศิลปินรุ่นใหญ่ แต่หากคุณเห็นโปสเตอร์งานครั้งแรกจะไม่คิดว่านิทรรศการนี้จะเป็นภาพวาดจิตรกรรม เพราะมานิตาออกแบบด้วยการดึงเอาสีของแต่ละชิ้นงานมาทำเป็นแพตเทิร์นสีแพนโทน ช่วยทำให้โปสเตอร์มีความร่วมสมัยมากขึ้น ไอเดียนี้ยังทำให้เธอเพิ่งคว้ารางวัลจากไต้หวันอย่าง Golden Pin Awards 2024 มาหมาดๆ

นอกจากนี้ มานิตายังออกแบบโปสเตอร์หนังอินดี้อย่าง 10 Years Thailand ที่หลายคนอาจจะจดจำได้จากการจัดวางตัวอักษรล้ำๆ และโปสเตอร์ภาพคอลลาจในหนังเรื่อง Only the Mountain Remains

มานิตาเคยรวบรวมผลงานจัดแสดงเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกเมื่อปี 2019 ปีเดียวกันกับที่เธอได้รับเลือกจากนิตยสาร Monocle ให้เป็น 1 ใน 5 นักออกแบบนานาชาติที่น่าจับตามอง และยังได้รับการเสนอชื่อและอนุมัติจากสมาชิกนานาชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของ AGI สมาคมกราฟิกระดับโลกที่มีสมาชิกเพียง 500 กว่าคนจาก 40 ประเทศทั่วโลก

เพียงเท่านี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าความสามารถของมานิตาได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่นี่ไม่ใช่งานทั้งหมดที่จะบอกเล่าความเป็นมานิตาได้ครบถ้วนเท่ากับการเดินชมนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สอง ชื่อว่า Forms of Expression จัดขึ้นที่ Kinjai Contemporary มานิตาได้รวบรวมทั้ง ‘ผลงาน’ ในโปรเจกต์ส่วนตัวและโปรเจกต์อื่นๆ มาผนวกกับ ‘ความรู้สึก’ ของทั้งเธอและตัวอักษร รวมทั้ง ‘พื้นที่’ ของคินใจ โดยยังร่วมงานกับศิลปินอีกหลากหลายแขนง ภายใต้การทำงานร่วมกับคิวเรเตอร์อย่างเบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์

นี่คือการเดินทางตามตัวอักษรของมานิตาที่จะทำให้เราได้มองเห็นทั้งกระบวนการทำงานและความรู้สึกภายใต้ตัวอักษรเหล่านั้น

FL.1 : room of words

เมื่อคุณเปิดประตูเข้าไปใน Kinjai Contemporary คุณจะพบกับชั้นแรกของนิทรรศการ Forms of Expression

ที่นี่ มานิตาวางกล้องฟิล์มเอาไว้ให้ผู้ชมได้ลงทะเบียนถ่ายรูป และใกล้กันนั้นมีชั้นเหล็กที่บรรจุกล่องสีน้ำตาลหลายสิบกล่องเอาไว้ หากเปิดไปทีละกล่องจะพบกับเบื้องหลังการออกแบบงานต่างๆ ที่มานิตาเก็บสะสมเอาไว้ ด้วยโครงสร้างของคินใจที่เหมือนบ้าน มานิตาจึงอยากให้ชั้นแรกเป็นเหมือนการพบกับเจ้าของบ้าน ด้วยการเปิดดูงานต่างๆ ผ่านกล่อง ซึ่งเปรียบเหมือนโฟลเดอร์งานที่กราฟิกดีไซเนอร์ทุกคนต้องเก็บรายละเอียดเอาไว้

ชั้นแรกจึงเหมือนเป็นการเปิดประตูต้อนรับให้ทุกคนได้ทำความรู้จักมานิตาด้วยสิ่งของอย่างละอันพันละน้อยที่เธอใช้ทำงาน

คุณเริ่มสนใจการออกแบบตัวอักษรมาตั้งแต่ตอนไหน

ตอนใกล้จะเรียนจบ เมื่อก่อนเราเป็นสายวาดภาพประกอบเลย แต่ตอนจะเรียนจบ เราทำธีสิสรวมแนวคิดการทำงานของพี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) แล้วเขาเป็นคนทำปกได้มีคาแรกเตอร์ชัดมาก ทำฟอนต์ไทยใช้เอง ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ดีไซเนอร์ใช้แก้ปัญหาการออกแบบสิ่งต่างๆ เราก็เลยต้องทำฟอนต์เองด้วย แล้วเราก็เริ่มสนใจตัวอักษรมาตั้งแต่ตอนนั้น

หลังจากนั้น เราก็ได้ออกแบบโปสเตอร์นิทรรศการให้หอศิลป์กรุงเทพฯ โปรเจกต์แรกคือนิทรรศการ Crossstitch เราก็ต้องทำฟอนต์เองตั้งแต่ ก-ฮ แล้วพอไปงานที่สอง นิทรรศการ RESORT : An exhibition from landscape of rest เห็นมันเป็นรูปวาดใช่ไหม แต่จริงๆ เราทำฟอนต์ใหม่หมดเลย มันจำเป็นต้องทำ เราเลยสนใจในโครงสร้างตัวอักษร เรามักจะมีโจทย์ในการออกแบบ เช่น จะทำยังไงให้มันอ่านได้บ้างหรืออ่านได้ยาก หรือทำให้ยังไงให้มันสวย

อีกอย่างคือ ตัวคีย์วิชวลของงานจะเป็นข้อความ ซึ่งเป็นตัวกำหนดคาแรกเตอร์ของงานนั้นๆ เราเลยต้องใส่ใจกับ ‘ข้อความ’ ตลอดเวลา ต่อจากนั้นก็เริ่มชอบคำมาเรื่อยๆ

ความชอบของคุณถึงระดับไหน เคยฝันถึงคำบ้างไหม?

ไม่เคย ฝันเลยเหรอ (หัวเราะ) ชอบแค่ตอนทำงานเท่านั้นแหละ เราชอบประโยคจากเพลง ชอบประโยคจากในหนัง คำจากในหนังสือ ประโยคที่เพื่อนพูด คำที่คิวเรเตอร์บรีฟงาน บางทีเขาหลุดพูดอะไรบางอย่างออกมาเขาก็ยังไม่รู้ แต่เราชอบ เราก็เอามาคิดงานต่อ หรือบางทีเราก็ได้คำมาจากชื่องาน เช่น นิทรรศการ Proximity ใกล้-ไกลสัมพัทธ์ เราเอาคำนี้มาตีความ แล้วก็ออกแบบให้มี spacing เล่นกับการเว้นระยะช่องว่างให้มีความไม่เท่ากัน

เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จะชอบคำ เราคิดว่าเราเป็น word collector เป็นคนเก็บข้อความ เก็บคำ เราคิดว่าคำมีความหมายและความรู้สึกที่เอาไปตีความต่อได้ พอเริ่มจากตรงนี้แล้วมันไปทำงานอื่นๆ ต่อได้ง่าย เราเอาคำไปถ่ายทอดให้กลายเป็นฟอร์มหรือความรู้สึกได้ เราชอบจัดวางคำให้เป็นความรู้สึก บางคนเห็นงานเราเป็น structure แต่จริงๆ เราทำงานจากความรู้สึกอย่างมาก เราจะไม่ค่อยอธิบายงานด้วยโครงสร้างแบบทฤษฎี แต่เราจะบอกว่าตัวอักษรนี้ให้ความรู้สึกอะไร เรียงตัวอักษรแบบนี้ช่วยทำให้เรารู้สึกอะไร

เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่าเราไม่ใช่เป็นคนใช้ฟอนต์หวือหวาด้วยซ้ำ อย่างในนิทรรศการนี้เราก็ใช้ Franklin Gothic

โดยส่วนใหญ่กราฟิกมักจะมองเรื่องต่างๆ เป็นภาพ แต่คุณเลือกที่จะมองหาข้อความก่อน

เรามีความคิดว่าคำก็คือภาพเหมือนกัน ตอนเราเซ็ตงานนิทรรศการนี้ เราจะบอกว่า typography is an image คุณอย่าผลักว่าเราไม่ใช่ภาพ หรือเราไม่ใช่ illustrator เพราะแม้แต่ฟอนต์ตัวหนึ่งก็มีคาแรกเตอร์

เพราะฉะนั้น เวลาทำงานเราจะไม่รังเกียจข้อความเลย แม้บางงานเราจะวาดรูปหรือออกแบบด้วยภาพ แต่เราจะมองข้อความเป็นหนึ่งเดียวกับการทำงานนั้นด้วย

FL 2.1 : room of traces

เดินขึ้นบันไดมายังห้องใหม่ ที่นี่เป็นชั้นลอย เราจะได้เห็นผลงานทดลองของมานิตาในช่วงเวลาต่างๆ อย่างชิ้นแรกเป็นภาพที่ตีความมาจากเรื่องสั้นของนักเขียน Dave Eggers ซึ่งเธอได้รับโจทย์จากอาจารย์เมื่อย้ายไปเรียนที่ Porto Design Summer School ประเทศโปรตุเกส

จากนั้นเราจะได้เจอกับผลงานชิ้นต่อมา ซึ่งเป็นงานทดลองที่เธอจัดแสดงในนิทรรศการแรกเมื่อปี 2019 มานิตาตั้งโจทย์ให้ตัวเองด้วยการจัดวาง + ลงไปในพารากราฟ แล้วเปลี่ยนฟอนต์ไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ค้นพบว่า รูปร่างของมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

FL 2.2 : room of fragments

ชั้นต่อมาจะเต็มไปด้วยโปรเจกต์ที่มานิตาคอลแลบร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ เช่น เราจะพบภาพแคนวาสขนาดใหญ่ของงาน always เดินถัดไปอีกนิดจะเห็นผ้าที่พิมพ์มาจากตัวอักษรที่มานิตาออกแบบ และเธอชวนศิลปินคนอื่นๆ มาร่วมนำงานของเธอดัดแปลงเป็นของประดิดประดอยเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งพวงกุญแจ ผ้าม่าน กระเป๋า และเพื่อให้เข้าคอนเซปต์ของ ‘บ้าน’ มานิตายังนำโต๊ะรีดผ้า เครื่องดูดฝุ่น ที่แขวนเสื้อโคว้ทมาใช้เป็นพื้นที่จัดวางงานด้วย

หรือหากเราเขยิบไปอีกนิดจะได้ดูจอทีวีที่ฉายเบื้องหลังการทำงานนิทรรศการครั้งนี้ที่มานิตาบันทึกหน้าจอเป็นวิดีโอเอาไว้ “คนก็จะได้รู้ว่าเราใช้ ChatGPT ด้วย” เธอกล่าวติดตลก “ตอนแรกคิดอยู่ว่าจะเอาออกไหม แต่เราแค่อยากให้เห็นว่าเรามีกระบวนการทำงานยังไง มีน้องคนหนึ่งเข้ามาแล้วบอกว่า เฮ้ย พี่ทำเหมือนผมเลย เขาคงรู้สึกว่ามีเพื่อนละ” มานิตาหัวเราะ

FL 3 : room of forms

หลังจากผ่านมาแล้วสองชั้น เราจะสังเกตเห็นว่า ในโปรเจกต์ส่วนตัวหรือโปรเจกต์ที่ชวนศิลปินคนอื่นๆ นำงานของมานิตาไปตีความจะเต็มไปด้วยคาแรกเตอร์ของการทดลอง และเน้นการจัดวางข้อความด้วยฟอนต์เรียบง่าย แต่มีโครงสร้างที่เท่และมีเอกลักษณ์ แต่หากเราเดินมาถึงชั้นสาม นี่คือประตูที่จะพาเราไปเห็นน้ำเสียงมานิตาเมื่อต้องตีโจทย์งานจากคนอื่น

พื้นที่นี้รวบรวมงานโปสเตอร์หนัง โปสเตอร์งานศิลปะ และปกหนังสือที่มานิตาออกแบบมาตลอด 12 ปี จัดวางอย่างเป็นระเบียบในรูปแบบ ‘ของใช้ในบ้าน’ เธอใช้ราวตากผ้าแขวนโปสเตอร์ หนังสือวางบนโต๊ะยาวและชั้นขนาดเล็ก รวมทั้งโต๊ะหนังสือพร้อมโคมไฟสีส้มสลัวที่แยกอยู่อีกห้อง มานิตาเล่าว่า นี่คือพื้นที่ที่เธอมอบให้กับผลงานเกี่ยวกับ ‘ผู้หญิง’ โดยเฉพาะ

งานของคุณมีทั้งออกแบบโปสเตอร์หนัง โปสเตอร์งานศิลปะ และปกหนังสือ คุณมีกระบวนการคิดงานที่แตกต่างกันไหม

งานหลักของเราคือทำปกหนังสือกับโปสเตอร์นิทรรศการศิลปะ จริงๆ เราคิดงานไม่ต่างกันเลย อย่างคีย์วิชวลของโปสเตอร์นิทรรศการเราจะคุยกับคิวเรเตอร์ คอนเซปต์งานเป็นอย่างไร ศิลปินมีใครบ้าง และต้องออกแบบเพื่อนำไปวางไว้ตรงไหนบ้าง ในขณะที่ทำปกหนังสือ เราคุยกับ บ.ก. เขาจะอธิบายภาพรวมหนังสือ เล่าเรื่องย่อให้ฟังก่อนจะส่งหนังสือมาให้เราอ่าน ทั้งสองคนนี้มีจุดร่วมกันคือ คนบรีฟงานให้เรา

แล้วก็อย่างที่บอก เราจะเก็บคำต่างๆ มาตีความ อย่างเวลาอ่านหนังสือ เราจะบันทึกตรงช่วงที่เราชอบเอาไว้ แล้วค่อยเอาตรงนี้ไปตีความต่อ ส่วนใหญ่เราจะหยิบฉากหนึ่งในหนังสือมาตีความ เพราะเราเล่าทุกอย่างในหนังสือลงบนปกไม่ได้ และเราก็ชอบทำปกที่ไม่ได้เห็นแล้วเข้าใจเรื่องทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทำให้มันมีความเชื่อมโยง ถ้าคุณอ่าน คุณถึงจะเข้าใจเลยว่าทำไมต้องทำแบบนี้ มันเหมือนการเปิดพื้นที่ให้คนได้ตีความด้วย

แสดงว่างานของคุณอยู่กึ่งกลางระหว่างการทำงานศิลปะและการสื่อสาร แล้วคุณมีจุดบาลานซ์ในการออกแบบยังไง

เราตั้งเป้าหมายงานไว้ว่ามันคือการผสมระหว่างศิลปะกับดีไซน์ งานกราฟิกลักษณะนี้มีความเป็นอิสระกว่างานกราฟิกทั่วไปตรงนี้ มันมีพื้นที่ให้ดีไซเนอร์ได้ทดลอง ทั้งในเชิงเทคนิคและการทดลองกับปฏิกิริยาของผู้ชม ไปจนถึงการชาเลนจ์กับตัวเองด้วย มันเลยทำให้เราสนุก

เช่น เราทำงานโปสเตอร์ให้กับนิทรรศการของศิลปินรุ่นใหญ่ เราจะตั้งเป้าหมายว่า งานกราฟิกจะเข้ามาซัปพอร์ตให้งานนิทรรศการเขาดียิ่งขึ้น ไม่ใช่การเอาภาพงานเขามาโชว์บนโปสเตอร์แล้วจบ เราต้องออกแบบให้ทุกคนเห็นแล้วรู้สึกสนใจ ทำให้เขาอยากรู้ว่าเข้าไปแล้วจะเห็นอะไร มีความสงสัยเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเอางานของศิลปินมาใส่ให้เห็นตั้งแต่ในโปสเตอร์เลย

วิธีคิดนี้เราก็ใช้กับทั้งปกหนังสือและโปสเตอร์หนังเหมือนกัน เราชอบให้คนเห็นแล้วมีพื้นที่ตีความ

อีกเรื่องคือ ตอนที่เราเปิดกล่องงานของคุณในชั้นแรก มีบางงานคุณวาดมือ หรือขดด้ายเป็นเส้น พอเดินขึ้นมาชั้นนี้เรามาเห็นว่ามันกลายเป็นโปสเตอร์ไปแล้ว แสดงว่าในการออกแบบแต่ละครั้ง คุณไม่ได้ทำงานหน้าจออย่างเดียว

ใช่ๆ เราลองทำนู่นนี่ไปเรื่อยๆ เพราะถ้าอยู่แต่หน้าจอเราจะเบื่อเร็ว เราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์เกินไป ตอนที่เราได้ลองทำงานคราฟต์ ลองทำมือบ้าง มันก็ได้พักจากความเป็นดิจิทัล เราไม่ต้องหยุดอยู่กับที่ มันทำให้เราต้องรีเสิร์ชเพิ่ม ยิ่งค้นหาอะไรใหม่ๆ ก็ยิ่งมีเรฟเฟอเรนซ์เพิ่ม เปิดโอกาสให้เราไปเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น มีปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวคือ เรามีของเต็มห้อง (หัวเราะ)

มีงานไหนที่คุณได้ทดลองทำมือแล้วมันไม่ได้ออกมาตามที่คิดไว้ไหม

มีๆ เช่น เกิดจากสกิลเราไม่ถึง เราก็ลองลดความโหดลงมาอีกนิด แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ตามที่คิดไว้

แล้วมีบ้างไหมที่แม้มันจะผิดพลาดแต่ก็ออกมาแล้วเจ๋งมาก

ส่วนใหญ่ไม่ใช่ว่าผิดพลาดทางเทคนิค เพราะเวลาเราทำงานคราฟต์ มันคุมอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราจะได้ความเซอร์ไพรส์จากสิ่งที่เราไม่ได้ตั้งสมมติฐานไว้แต่แรกมากกว่า เช่น เราเอาก้อนหินและไม้ไปเขียน แล้วได้ลายเส้นใหม่ที่เราไม่คิดมาก่อนว่าจะทำได้

ถามว่าเป็นความผิดพลาดไหม อาจจะไม่ใช่ น่าจะเป็นเพราะเราชอบทดลอง เป็นความอยากรู้มากกว่า เราชอบตั้งโจทย์เล่นๆ แล้วพอได้ผลลัพธ์ที่เกินความคาดหวังออกมา กลายเป็นว่าชอบเฉยเลย

อย่างนี้คุณชอบอะไรมากกว่ากันระหว่างกระบวนการได้ทดลองกับผลลัพธ์

โห (คิด) สนุกที่ได้ลองทำ แต่ตอนที่ได้ผลลัพธ์มันออกแนวดีใจมากกว่า เราตื่นเต้นมากกว่า

แต่ถามว่าชอบตอนไหนที่สุดคือ ตอนทำงาน เพราะมันอยู่ในจุดที่ไม่รู้ แล้วเราได้ลองไปเรื่อยๆ เราชอบความยังไม่รู้ แล้วกราฟความตื่นเต้นกับความเครียดมันจะผสมกันในช่วงระยะเวลานี้ แต่สุดท้ายมันก็ได้ลุ้นคำตอบไปด้วยงานเลยสนุก

ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว ทุกวันนี้ส่งงานไปให้ลูกค้ายังตื่นเต้นที่จะได้รับคอมเมนต์อยู่เลย อาจเพราะเราเอาตัวตนเข้าไปอยู่ในงานด้วย เราเลยคาดหวังการทำงานของตัวเอง และลุ้นว่าเขาจะซื้อไอเดียเราไหม

แสดงว่ากระบวนการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ

สำคัญมาก ในขณะที่เราอยากได้งานที่ดี เราก็คิดด้วยว่าเราสนุกกับงานไหม ถ้าเกร็งแล้วดูออกเลย งานนี้มันดูมีกรอบ ต้องลองฟรีตัวเองบ้าง

มีงานไหนบ้างที่คุณทั้งสนุกแต่ก็ลองท้าทายความเสี่ยงไปด้วย

โปสเตอร์นิทรรศการ CROSSOVER II : THE NATURE OF RELATIONSHIPS กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังงานนี้คือทีมคอลเลคเตอร์ที่สะสมผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่ และเป็นงานจิตรกรรมแบบประณีต แต่เราเลือกดึงเซ็ตสีของแต่ละงานมาทำเป็นแพนโทนสี ลึกๆ เราว่าเรากำลังทดลองกับการรับรู้ของคนดู หรือคนที่ติดตามผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่ด้วย เพราะโปสเตอร์นี้ดูมินิมอลมาก คนเห็นครั้งแรกไม่คิดว่าเข้ามาจะเจอกับงานที่มีความ traditional และยิ่งใหญ่

ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าจะผ่านไหม แต่คิวเรเตอร์เป็นคนที่ซัปพอร์ตจนโปสเตอร์นี้ออกมาสู่สายตาคน มันทำให้เรารู้ว่างานที่ดีไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่มาจากคนที่สนับสนุนและคนที่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

FL 4 : room of expressions

เราเดินมาถึงชั้นบนสุดของคินใจ โต๊ะปิงปองโดดเด่นอยู่ในระยะสายตาตั้งแต่ก้าวขาออกจากบันไดขั้นบนสุด จากนั้นเราจะพบข้อความ “คุณรู้สึกอย่างไร” พร้อมทั้งกำแพงที่เต็มไปด้วยข้อความที่เกิดจากการตัดแปะตัวอักษรต่างๆ

หลังจากเดินขึ้นบันไดมาหลายขั้น ได้พบผลงานที่หลากหลาย มานิตาอยากถามความรู้สึกกับผู้ชมบ้าง เธอจึงอยากให้คนรู้สึกผ่อนคลายกับชั้นนี้ ประกอบกับโต๊ะปิงปองที่วางข้างกันนั้น สื่อถึงกิจกรรมที่มานิตาชื่นชอบเป็นพิเศษ “เราสังเกตว่าเวลาไปตีปิงปองกับเพื่อน เรามักจะเริ่มคำถามว่า ‘ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง’ แล้วเราก็จะได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากัน”

เราจึงถือโอกาสนี้ชวนเธอตีปิงปองแลกเปลี่ยนความรู้สึกในการทำงานตลอด 12 ปีของมานิตากันบ้าง

นี่คืองานนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สองที่คุณจัดขึ้น ถ้าให้ย้อนกลับในแต่ละครั้งที่คุณได้รวบรวมผลงานมาจัดแสดง คุณมองตัวเองเปลี่ยนไปบ้างไหม

มันเปลี่ยนตั้งแต่เราไปเรียนที่โปรตุเกส แล้วกลับมาจัดนิทรรศการครั้งแรกที่ The Jam Factory ตอนนั้นเราทำงานได้ 7 ปีแล้ว จริงๆ อาจจะต้องบอกว่า ถ้าเราไม่ไปเรียนที่นู่น อาจจะไม่เกิดงานนิทรรศการครั้งแรกก็ได้ เพราะก่อนหน้านั้นเรามีความสงสัยในตัวเองเยอะมาก มันมีความกดดัน มีคำถามว่าเราทำงานได้ดีจริงๆ หรือเปล่า แล้วพอหันกลับไปมองงาน เราก็รู้สึกเขินๆ หรือกับบางงานก็ไม่ได้รู้สึกโอเคกับมันเท่าไหร่

ความรู้สึกพวกนี้เกิดขึ้นได้ยังไง

หลายอย่าง ส่วนใหญ่ก็เกิดจากคนที่เคยทำงานด้วยแล้วเรามาพบว่า เราคุยกันคนละเรื่อง เรามีสไตล์คนละแบบ แล้วเราก็ถูกวิจารณ์ในแบบที่เราเริ่มไม่แน่ใจว่ามาถูกทางหรือเปล่า ตอนนั้นก็ร้องไห้เหมือนกันนะ ทำไมยังไม่โอเคอีกเหรอ ต้องแก้ไปถึงจุดไหน แต่เราก็แก้งานไปด้วยความรู้สึกหลายอย่าง นี่เรากำลังแก้อะไรอยู่ยังไม่รู้เลย ไม่รู้ว่าที่แก้ออกมามันดีหรือเปล่า นี่เราจะต้องเชื่อใครกันแน่

แต่มันไม่ใช่การที่เราไม่เปิดรับคำวิจารณ์นะ เรายินดีมากๆ ที่มีคนวิจารณ์งาน เพียงแต่ตอนนั้นเป็นการวิจารณ์ที่เขาไม่ได้ชอบสไตล์งานแบบเราแน่ๆ เช่น เขาบอกว่าไม่เคยเห็นใครเรียงตัวอักษรแบบนี้ พอได้รับคำวิจารณ์ให้ปรับงาน เราก็พยายามประนีประนอมจะปรับให้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเรากำลังปรับให้มันกลายเป็นอะไร เราก็เริ่มสงสัยในความสามารถตัวเองจนตอนนั้นมีคำถามว่า เราต้องเชื่อเขา หรือต้องเชื่อในตัวเรา?

หรือบางครั้งก็คิดว่า เรายังไม่เก่งเหรอ เราพยายามขนาดนี้แล้วทำไมยังไม่ผ่าน พอมองย้อนกลับมาแล้ว เราคิดว่ามันเป็นกระบวนการปกติของการทำงานสายนี้ด้วยล่ะมั้ง เราเอาตัวตนเข้าไปอยู่กับงานแทบจะ 100% ซึ่งเราไม่สามารถแยกได้ พอเจอคนวิจารณ์งานกลายเป็นว่ามันเหมือนตัวเราโดนวิจารณ์ไปด้วย มันยิ่งทำให้เราตั้งคำถามกับความสามารถของตัวเอง

แล้วคุณคลี่คลายในเรื่องนี้ยังไง

อย่างที่บอกว่าเราไปเรียนต่อโปรตุเกส เราถึงได้รู้ว่างานแบบเราไม่แปลก มีคนเคยทำ และงานเราก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น อีกอย่างคือพวกเราทำงานกันเครียดมาก เพื่อนที่โปรตุเกสไม่มีใครทำงานแบบเครียดๆ เลย ตอนกลางวันทำงานสนุกๆ ตอนเย็นออกไปปาร์ตี้ กลับมาก็ยังมีงานดีๆ ได้

การเจอบรรยากาศแบบนี้ทำให้เราได้รับซัปพอร์ตทางใจกลับมามากๆ และทำให้เรากล้ามากขึ้น ออกไปเจอคน ออกไปสนุก แล้วก็กล้าเสี่ยงมากขึ้น

ทีนี้พอเรากลับไทย มานั่งค้นไฟล์งานตัวเองดู เราเห็นงานตัวเองแล้วมีความสุขขึ้นนะ แล้วหลังจากนั้นมันก็เริ่มตกตะกอนได้ว่า งานที่ปล่อยออกไปแล้วก็ปล่อยมันไปเถอะ แม้ว่าเราจะมีความไม่พอใจอะไรบางอย่าง เราทำให้มันดีที่สุดได้ ณ ช่วงเวลานั้นแล้ว มันบันทึกยุคสมัยของเราไปแล้ว ที่เหลือก็ให้มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้

อีกเรื่องคือ เรารู้แล้วด้วยว่า ที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าเราไม่พยายาม ทุกครั้งที่เราทำงาน เราใส่ความตั้งใจและพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบสไตล์งานแบบเราก็คือเขาไม่ชอบ ดังนั้น เราก็จะรู้จักการกรองคำวิจารณ์มากขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่เปิดรับคำวิจารณ์เลย เพราะเราชอบที่คนแชร์ไอเดียกับเรามากๆ แต่ถ้าอันไหนไม่ได้ช่วยให้งานของเราได้พัฒนาไปข้างหน้า เราก็จะปิดรูนั้น ไม่ต้องไปสู้ เพราะมันไปต่อไม่ได้ ไม่รู้จะพยายามพิสูจน์ความสามารถให้เขาทำไม เพราะเขาต้องการให้เราทำในสิ่งที่เขาชอบ เขาไม่ได้ต้องการให้เราเสนอไอเดียของเรา

ถ้าเป็นกรณีที่คนวิจารณ์อย่างหวังดี คุณได้คำตอบไหมว่าจะบาลานซ์ระหว่างความต้องการคนอื่นกับตัวตนของเราเองอย่างไร

ถ้าเป็นงานลูกค้า เราจะมีวิธีการคุยคือ เราจะถามความต้องการตั้งแต่แรก งานนี้ปล่อย 100% เลยไหม หรือว่าต้องการกี่เปอร์เซ็นต์ เราชอบมากเลยเวลาคนบรีฟบอกว่า งานนี้อยากได้เป็นรูปที่เข้าใจง่าย เราจะตอบว่าโอเคได้เลย คุณแค่บอกสิ่งที่คุณต้องการและกำหนดพื้นที่ที่เราสามารถลงตัวตนได้เท่าไหร่ เราเคลียร์กันแต่แรกจะช่วยทำให้เราทำงานได้ง่ายมาก

แล้วจำเป็นไหมที่เราต้องแยกตัวตนออกจากงานเพื่อไม่ให้มันกระทบกับใจเรา

เราแยกไม่ได้ (หัวเราะ) แล้วเราไม่คิดว่าเราจะแยกด้วย เพราะเราอยากให้คุณภาพงานดี เราก็อยากทุ่มเท ใส่ตัวตนและความคิดเราเข้าไป สิ่งที่ทำคือ เรากลับมาบาลานซ์ความสนุกกับความจริงจังในการทำงานของตัวเอง เราพยายามลดความเครียด แต่ก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด

สุดท้ายมันไม่ใช่การแยกตัวตนออกไปทั้งหมดเลย แต่ต้องรู้วิธีคุยกัน ถามความต้องการเขาตั้งแต่แรกว่าเราเอาตัวเองเข้าไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเราก็ไม่ต้องเอาความรู้สึกไปรับคอมเมนต์ขนาดนั้น เราคิดว่าเราสนุกกับงานมากขึ้น เครียดน้อยลง แล้วก็ปล่อยให้งานมันบันทึกช่วงเวลานั้นของเรา

ถ้าอย่างนั้นในความคิดของคุณงานกราฟิกที่ดีมีความหมายว่ายังไง

เราว่าก็คงเหมือนโต๊ะนี้ (โต๊ะปิงปอง) มันคือการโยนไอเดีย การคุยกันระหว่างเขากับเรา บางทีการที่คุยอาจจะได้อะไรที่ดีๆ ออกมาด้วยซ้ำ งานกราฟิกไม่ใช่ของเราคนเดียว แม้แต่โปรเจกต์ส่วนตัว เราไม่ได้ขายงานให้คนคนเดียวไปครอบครอง แต่เขาซื้อมันไปตีความของเขาด้วย อย่างเช่น พวงกุญแจ เขาต้องเอามันไปดีไซน์ใส่แผ่นอะคลิลิกเอง หรือปกหนังสือ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของเล่มนั้นได้ ดังนั้น เราว่ามันมีพื้นที่ระหว่างเรา ลูกค้า และผู้ชม

บทความต้นฉบับได้ที่ : Forms of Expression นิทรรศการที่ มานิตา ส่งเสริม ไทโปกราฟิกดีไซเนอร์บอกกับทุกคนว่า ตัวอักษรก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากเรา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

ทั่วโลกเกิดอะไรขึ้นบ้างสัปดาห์นี้ 14-19 กรกฎาคม 2568

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

Together, We Run: ในปี 2025 ที่ ‘การวิ่ง’ เชื่อมโยงคอมมูนิตี้และผู้คน

20 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

“โอต์กูตูร์” ซีซันฟอลล์/วินเทอร์ 2025-2026 ฉีกกรอบการเล่าเรื่องของโลกแฟชั่นชั้นสูง

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

ธรรมเนียมนิยม “เจ้าสัว-เถ้าแก่” รุ่นบุกเบิกในไทย มีเมียคนจีน ส่งลูกไปจีน ศพฝังที่จีน

ศิลปวัฒนธรรม

“The Fantastic Four: First Steps” ดูที่ SF สนุกที่สุด รอบพิเศษเพียบ พร้อมรับของพรีเมียมลิขสิทธิ์แท้!

Insight Daily

บอลวันนี้ ดูบอลสด ถ่ายทอดสด โปรแกรมฟุตบอล วันอาทิตย์ที่ 20 ก.ค. 68

PostToday

ซัมซุง จับมือ การบินไทย ยกระดับประสบการณ์การเดินทางผ่าน Samsung Wallet

Insight Daily

เตรียมชม! “เขาชุมทอง คะนองชุมโจร” มหากาพย์ตำนานจอมโจรปักษ์ใต้สไตล์จัดจ้าน 21 ส.ค. นี้ ที่ Netflix

Insight Daily

เปิดประวัติ พระธรรมวชิรธีรคุณ เจ้าคณะจังหวัดเมืองปากน้ำโพ เจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์

MATICHON ONLINE

ด่วน! พระธรรมวชิรธีรคุณ เจ้าคณะจว.นครสวรรค์ แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว

MATICHON ONLINE

ข่าวและบทความยอดนิยม

จากอรัญประเทศถึงช่องบกและเส้นเขตแดนที่ไม่เคยมีอยู่จริงของคนชายแดน

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

Spotlight: ประเทศไทยเกิดอะไรขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้ [14-17 ก.ค. 2568]

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

Thairath Plus Favorite Albums of 2025 (So Far) อัลบั้มที่ขับเคลื่อนชาวไทยรัฐพลัสในครึ่งปี 2025

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส
ดูเพิ่ม
Loading...