ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. Financial Hub
ทำเนียบฯ 15 ก.ค. – ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. Financial Hub ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก หวังดึงเงินลงทุนจากแบงก์ต่างชาติ ให้บริการ ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ประกันภัย
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ….. เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินของโลก (Financial Hub) และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ช่วยพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาการกำหนดแนวทางการจัดตั้ง Financial Hub ในเขตพื้นที่ที่กำหนดสำหรับการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และธุรกิจทางการเงินอื่นหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
เพื่อให้บริการเฉพาะผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-residents) เท่านั้น ยกเว้น 2 กรณี คือ 1) การให้บริการระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายด้วยกันเอง และ 2) การให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล [เนื่องจากเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนตลาดภายในประเทศ (Market Participant) โดยผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายจะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด จดทะเบียนในไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ และต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด
กำหนดให้มี “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบาย กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจ เป้าหมาย จัดทำแนวทางการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเป้าหมาย รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบ พิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาต การต่ออายุ และการเพิกถอนการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน
การจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน” มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการ เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub โดยคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ โดยเพิ่มเติมให้สำนักงานฯ ต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเป้าหมายแก่หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจทางการเงินของประเทศร้องขอ
กำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สิทธิในการนำคนต่างด้าว (ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญใด ๆ ที่คณะกรรมการฯ กำหนด ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว) เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่สำนักงานฯ อนุญาต
มาตรการปรับโทษทางอาญา สำหรับการกระทำที่มิใช่ความผิดร้ายแรงหรือมิได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ และโทษทางอาญา สำหรับกรณีที่เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหรืออาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ โดยในกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว กำหนดให้เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
กำหนดบทเฉพาะกาล ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานฯ ตามความจำเป็น และให้คณะกรรมการฯ โดยตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน โดยให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยการไปพลางก่อน โดยให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการและจัดตั้งสำนักงานฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด คาดว่าในระยะ 3 ปีแรก ใช้เงินจำนวน 300 ล้านบาท และอัตรากำลังที่ไช้ในสำนักงานฯ จำนวน 50 อัตรา.-515- สำนักข่าวไทย