9 สัญญาณเตือน ร่างกายกำลังขาดแมกนีเซียม
แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่หลายคนมองข้าม แต่มีบทบาทอย่างมากในการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่การสร้างพลังงานไปจนถึงการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและกระดูก อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากกลับมีภาวะขาดแมกนีเซียมโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสัญญาณเตือนจากร่างกายบางอย่างอาจถูกมองข้ามได้ง่าย เนื่องจากดูเหมือนอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้สร้างผลเสียอะไรมากนัก
คริส เฟรย์แทก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการดูแลตัวเองที่ทำงานอยู่ในวงการสุขภาพมากว่า 35 ปี โดยเน้นการศึกษาสุขภาพและการดูแลร่างกายของหญิงวัยกลางคนเผยประสบการณ์ส่วนตัวของเธอที่เคยละเลยอาการซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนเหล่านี้ และพบว่าการรับประทานแมกนีเซียมเสริมเข้าไปช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น
สำหรับ 9 สัญญาณเตือนว่าร่างกายอาจอยู่ในภาวะขาดแมกนีเซียม มีดังนี้
- ตะคริวและกล้ามเนื้อกระตุก: แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญในการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อ การขาดแมกนีเซียมอาจทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งและตะคริวได้ง่ายและกะทันหัน
- อ่อนเพลียและอ่อนแรง: หากรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนแรงตลอดเวลาโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อาจเป็นเพราะขาดแมกนีเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการผลิตพลังงานในระดับเซลล์
- วิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า: แมกนีเซียมมีส่วนสำคัญในการควบคุมอารมณ์และการทำงานของสารสื่อประสาท หากร่างกายมีระดับแมกนีเซียมต่ำอาจส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลหรือมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น
- นอนไม่หลับและหลับไม่สนิท: แมกนีเซียมช่วยควบคุมวงจรการหลับ-ตื่นของร่างกาย การขาดแมกนีเซียมอาจทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้ยากขึ้น ส่งผลให้หลับยากหรือหลับไม่สนิท
- หัวใจเต้นผิดปกติ: อาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของการขาดแมกนีเซียมซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของหัวใจ
- ไมเกรนและปวดศีรษะ: แมกนีเซียมช่วยควบคุมสารสื่อประสาทและการทำงานของหลอดเลือด มีผลจากกรณีศึกษาชี้ว่าระดับแมกนีเซียมต่ำอาจมีส่วนทำให้เกิดไมเกรน ถ้าหากมีอาการปวดศีรษะเป็นประจำ อาจลองเช็กดูก่อนได้ว่า ร่างกายได้รับแมกนีเซียมเพียงพอหรือไม่
- ความดันโลหิตสูง: แมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการคลายตัวของหลอดเลือดและควบคุมระดับความดันโลหิต ดังนั้นการขาดแมกนีเซียมอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
- มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร: อาการท้องผูก ท้องอืด และปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่นๆ อาจเกี่ยวข้องกับการขาดแมกนีเซียม แร่ธาตุนี้ช่วยควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารซึ่งทำให้ระบบระบายของเสียออกจากร่างกายทำงานได้ตามปกติ
- อาการชาเหมือนโดนเข็มทิ่ม: เนื่องจากแมกนีเซียมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของเส้นประสาท หากร่างกายได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอก็อาจทำให้เกิดอาการเหน็บชาหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มที่มือหรือเท้าโดยไม่มีสาเหตุเป็นประจำ
เฟรย์แทกแนะนำว่า หากพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ก็อาจลองตรวจเช็กระดับแมกนีเซียมในร่างกายดูก่อน หลังจากนั้นค่อยเพิ่มอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น กล้วย อะโวคาโด ถั่วอัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง ผักปวยเล้ง ดาร์กช็อกโกแลต หรือพิจารณาการรับประทานอาหารเสริมแมกนีเซียมได้
ที่มา : yahoo.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES