ผู้ว่าฯศรีสะเกษ ประชุมด่วนติดตามพื้นที่สีแดง กำชับจัดการศูนย์พักพิง ย้ำเราในฐานะรัฐต้องดูแลทุกชีวิต
ผู้ว่าฯศรีสะเกษ ประชุมด่วนติดตามพื้นที่สีแดง กำชับจัดการศูนย์พักพิง ย้ำเราในฐานะรัฐต้องดูแลทุกชีวิต
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมสระกำแพงใหญ่ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ / ศูนย์สั่งการชายแดนศรีสะเกษ ภัยอื่น ๆ (ภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของกองกำลังนอกประเทศ) เพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุดตามแนวชายแดน รวมถึงการติดตามปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการศูนย์พักพิง การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย การสื่อสารข้อมูลข่าวสาร และภาพรวมด้านสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยง
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยเฉพาะนายอำเภอในพื้นที่เสี่ยง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ ขุขันธ์ และภูสิงห์ รวมถึงพื้นที่รอบข้างที่มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว สำหรับรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดน ซึ่งในระยะหลังได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ โดยทุกพื้นที่ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้การบริหารจัดการในภาพรวมสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายอนุพงศ์ กล่าวในที่ประชุมว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนจังหวัดศรีสะเกษ นับว่ามีความอ่อนไหวสูงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการประเมินและวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมสถานการณ์ทั้งในเชิงความมั่นคงและความรู้สึกของประชาชน “โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง คือ การแก้ไขปัญหาข่าวลวงหรือ ‘เฟคนิวส์’ ที่เผยแพร่ในพื้นที่ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนและกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ” หน่วยงานข่าวสารในจังหวัด ประสานข้อมูลโดยตรงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จังหวัดศรีสะเกษ ต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานข่าวสารอย่างชัดเจน เพื่อให้ทิศทางของข่าวสารมีความถูกต้อง รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ สามารถชี้แจงหรือยับยั้งข่าวลวงได้ทันท่วงที
ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวต่อไปว่า บทบาทของเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับ ทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักใน “พื้นที่ส่วนหน้า” ที่มีความใกล้ชิดกับแนวปะทะ ส่วนใน “พื้นที่ส่วนหลัง” ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ใช้รองรับประชาชนและดำเนินกิจกรรมภายในประเทศ จะต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มแข็งจากตำรวจเป็นหลักโดย ตำรวจต้องเป็นกำลังหลักในพื้นที่ส่วนหลัง นายอำเภอต้องประสานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะแม้เราจะมี ชรบ. หรือชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน แต่เขาเป็นเพียงกำลังเสริมจากชาวบ้านเท่านั้น
ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวอีกว่า ในการบริหารจัดการศูนย์พักพิงในแต่ละพื้นที่ที่มีการอพยพประชาชน นายอำเภอที่มีศูนย์พักพิงในความรับผิดชอบ ต้องมีคำสั่งชัดเจน ว่าใครเป็นผู้ควบคุมดูแลศูนย์แต่ละแห่ง และต้องตรวจสอบศักยภาพของศูนย์ให้แน่ใจว่าเพียงพอต่อการรองรับผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ “ศูนย์พักพิงต้องมีความพร้อม ทั้งด้านพื้นที่ใช้สอย ห้องสุขา น้ำดื่ม ความสะอาด และความปลอดภัย ข้อมูลที่ผมได้รับในตอนนี้คือ บางศูนย์ยังจัดการไม่เรียบร้อย บางแห่งคนแน่นเกินไป ทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง การให้บริการต้องคำนึงถึง “คุณภาพชีวิตของประชาชน” ไม่ใช่เพียงแค่การมีที่พักพิงเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้จัดการศูนย์พักพิงแต่ละแห่งดำเนินการตาม “แผนเช็กลิสต์” ที่กำหนดไว้ พร้อมสอบถามประชาชนในศูนย์ถึงความพึงพอใจ ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย ว่าขาดเหลือสิ่งใด เพื่อจัดสรรให้เพียงพอทันที และ ต้องดูแลประชาชนเหมือนญาติพี่น้องของเรา ต้องตรวจสอบทุกจุด อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า ช่วงท้ายของการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวย้ำกับผู้เข้าร่วมประชุมด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ภาครัฐคือความหวังและที่พึ่งของประชาชน จึงขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละและความเมตตา “ตอนนี้ประชาชนไม่มีใครแล้ว มีแต่พวกเราที่ต้องเป็นหลักให้บ้านเมือง อะไรจะเกิดก็ว่ากันไป แต่เราต้องอยู่ตรงนี้ ต้องช่วยเขาให้ถึงที่สุด ให้เขารู้ว่า ‘รัฐ’ อยู่ข้างเขาเสมอ”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ผู้ว่าฯศรีสะเกษ ประชุมด่วนติดตามพื้นที่สีแดง กำชับจัดการศูนย์พักพิง ย้ำเราในฐานะรัฐต้องดูแลทุกชีวิต
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th