ปภ. ร่วมถกศูนย์เฉพาะกิจชายแดนชายแดนไทย-กัมพูชา ประกาศเขตช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 5 จังหวัด
ปภ. ร่วมประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา กระทรวงมหาดไทย เผย ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแล้ว 5 จังหวัด 19 อำเภอ 119 ตำบล 1,438 หมู่บ้าน
วันที่ 28 ก.ค.68 นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มอบหมายให้นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา กระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 2/2568 ซึ่งมีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านกิจการความมั่นคง เป็นประธานการประชุม ส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เข้าร่วมการประชุม ณ ห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย และผ่านระบบการประชุมทางไกล
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ได้สนับสนุนการปฏิบัติงานกรณีสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา ภายใต้การบูรณาการของกระทรวงมหาดไทย ที่เน้นย้ำให้มีประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายใต้ มท. ในการดูแลพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง ซึ่งขณะนี้ ปภ. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัย (ภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของกองกำลังจากต่างประเทศ) 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และตราด รวม 19 อำเภอ 119 ตำบล 1,438 หมู่บ้าน เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ก็ได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการมีอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว เพิ่มเป็นจังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นไปด้วยความคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์
ขณะที่นายชัยรัตน์ รองอธิบดี ปภ. เปิดเผยว่า ปภ. ได้วางแผนสนับสนุนการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ภายใต้นโยบายของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา โดยเมื่อวานนี้ (27 ก.ค.68) เครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร ที่ ปภ. ส่งไปสนับสนุนเพิ่มเติม ได้เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษแล้ว จำนวน 7 รายการ รวม 14 คัน ได้แก่ รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 200 kVA. รถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ขนาด 12,000 ลิตร รถตรวจการณ์ รถบรรทุกขนาดเล็ก รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยพร้อมอุปกรณ์ รถผลิตน้ำดื่ม รถประกอบอาหารพร้อมอุปกรณ์ ขณะที่เครื่องจักรกลจากสาธารณภัยของศูนย์ ปภ. เขต อื่นๆ ที่ ปภ. ส่งเข้าไปสนับสนุนก่อนหน้านี้ ก็ให้ตรึงกำลังปฏิบัติงานตามนโยบายของจังหวัดอย่างเต็มกำลัง และที่สำคัญ ปภ.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ได้ทันที จึงขอฝากให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการและหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
”ขอเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนอย่าปิดเครื่องโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากหาก ปภ. ได้รับการแจ้งความเสี่ยงอันตรายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและพื้นที่ จะทำการส่งแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Boardcast ไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทันที เพื่อแจ้งเตือนประชาชนทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วอีกทางหนึ่ง“ นายชัยรัตน์ รองอธิบดี ปภ. กล่าว