ผู้ว่าฯสุรินทร์ยืนยัน ไม่ได้ประกาศเขตภัยพิบัติสงคราม เร่งช่วยเหลือในสถานะภัยพิบัติฉุกเฉิน
ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ว่า นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ประกาศด่วนที่สุดถึงนายอำเภอ ทุกอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และนายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ ด้วยสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชามีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีการปะทะตลอดแนวชายแดนอำเภอบัวเชด สังขะ กาบเชิง และพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ด้วยอาวุธหลายชนิด รวมถึงการโจมตีสถานที่สำคัญ เช่น สถานบริการสาธารณสุข สถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ และพื้นที่ชุมชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดสาธารณภัยหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย หรือกรณีฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่
จึงขอซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งเป็นการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของกองกำลังนอกประเทศ)ไม่ใช่ภัยพิบัติจากสงคราม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดสาธารณภัยหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย หรือกรณีฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ จึงขอซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ดังนี้
1. ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามหน้าที่และอำนาจให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามพื้นพื้นที่ชายแดนดังกล่าว
2.กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายไทยและกองกำลังฝ่ายกัมพูชาบริเวณพื้นพื้นที่ชายแดน ที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชนหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐถือเป็นสาธารณภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 4 และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ข้อ 5
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ข้อ 7 ข้อ 19 (1) และข้อ 21 ประกอบกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น และมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดและผู้อำนวยการอำเภอตามที่ได้รับมอบหมาย
3. กรณีฉุกเฉินที่มีเหตุสาธารณภัยเกิดขึ้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย ตามข้อ 18 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563 และหากงบกลางมีไม่เพียงพอให้ดำเนินการ
ตามข้อ 100 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่กำหนดว่าในกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้นให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจำเป็นในขณะนั้น โดยให้คำนึงถึงถึงฐานะการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
4.กรณีผู้ประสบภัยจากพื้นที่เกิดภัยได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ ตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ด้านการดำรงชีพ แต่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยให้รายงานผู้กำกับดูแลเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย