GUNKUL ยังน่าลงทุนไหม? จากต้นปีร่วงแล้ว 30% โบรกฯ ยังประสานเสียงแนะ “ซื้อ” มองพื้นฐานแกร่ง-มีแนวโน้มโตต่อเนื่อง
ราคาหุ้น บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน โดยวันที่ 4 ก.ค.68 ราคาหุ้นปิดตลาดที่ระดับ 1.55 บาท ลดลง 0.64% จากวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 21.17 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากนับจากต้นปีราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปแล้ว 29.55% จากระดับ 2.20 บาท ณ วันที่ 2 ม.ค. 68 โดยคาดว่าปัจจัยที่กดดันราคาหุ้น เกิดจากความวิตกกังวลจากผลประกอบการที่ชะลอตัว, ต้นทุนที่สูง และความไม่แน่นอนจากนโยบายภาครัฐด้านพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นตัวนี้ โดยแนะนำ “ซื้อ” หุ้น GUNKUL จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง โดยนอกจาก GUNKUL จะเป็นบริษัทฯ ที่มีการเติบโตจากงาน EPC ในปี 2568 แล้ว ยังมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มเข้ามาในปี 2569 ด้วย อีกทั้งการขายหุ้น 50% ในโครงการโซลาร์ฟาร์ม รวม 230.4 MWe มูลค่า 704 ล้านบาท ให้กับ GULF ยังช่วยสนับสนุนบริษัทในหลายมิติ ทั้งสถานะการเงินที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มเครดิตเรทติ้งรองรับขยายผลิต, ต้นทุนโครงการลดลงจากเครดิตแข็งแกร่งของ GULF, รับรู้รายได้จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และมีโอกาสสร้างรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เพิ่ม ผ่านการ Synergy กับพันธมิตรในอนาคต
โดย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ซื้อ” GUNKUL พร้อมให้ราคาเป้าหมายที่ 2.60 บาททั้งนี้ มอง Neutral จากงาน Oppday โดยทิศทางการเติบโตใกล้เคียงเดิม ขณะที่ปัจจัยที่ตลาดมีความกังวล ได้แก่ 1) การปรับลดค่าไฟในเวียดนามจาก EVN ยังอยู่ในช่วงเจรจาและในกรณี Worst case หากเจรจาไม่สำเร็จจะมีผลต่อกำไรปี 2568 ราว 4-5% 2) ด้านพลังงานหมุนเวียนเฟส 2.1 อยู่ระหว่างรอภาครัฐพิจารณา โดยบริษัทฯ คาดจะสามารถดำเนินการต่อได้บนราคาค่าไฟใกล้เคียงเดิม
สำหรับ Outlook คาดกำไรปกติไตรมาส 2/68 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน จากรายได้ธุรกิจ EPC & Trading ที่ลดลงเมื่อเทียบจาก Backlog ในไตรมาส 2/67 และกระแสลมที่อ่อนตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/68 อย่างไรก็ดี คาดกำไรปกติปี 2568 ยังเป็นไปตามกรอบประมาณการ
ทั้งนี้ ในเชิงกลยุทธ์ แม้ GUNKUL ยังเป็นบริษัทฯที่มีการเติบโตจากงาน EPC ในปี 2568 (คาดกำไรปกติโต 4%) และ Capacity พลังงานหมุนเวียนส่วนเพิ่มในปี 2569 (คาดกำไรปกติเติบโต 17%) แต่แนะนำติดตามปัจจัย Regulatory risk ประกอบการลงทุน ได้แก่ 1) นโยบายการลดค่าไฟโครงการที่ COD แล้ว ซึ่งโอกาสเกิดยาก 2) การชะลอเซ็น PPA พลังงานหมุนเวียนเฟส 2
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด แนะนำ “Outperform” GUNKUL ด้วยราคาเป้าหมายที่ 2.50 บาท จากการประชุมนักวิเคราะห์ ผู้บริหารชี้แจงการขายหุ้น 50% ให้ GULF ในโครงการโรงไฟฟ้า solar 9 โครงการ รวม 230.4MWe มูลค่า 704 ล้านบาท โดยหลักเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้รองรับการเติบโตของกําลังการผลิตใหม่ ๆ ที่จะขยายตัวในอนาคตและคาดจะได้รับประโยชน์จากการ synergy มากกว่ากําลังการผลิตที่เสียไป
โดยหลังธุรกรรมเสร็จสิ้นในไตรมาส 2/68 GUNKUL จะมีกําลังการผลิตลดลงมาอยู่ราว 1.26 พัน MWe (เดิม 1.48 พัน MWe) และคาดมีกําไรจากการขายหุ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจไม่มีนัยฯ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ GUNKUL ชนะคัดเลือกโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดรอบแรก (รวม 832 MWe) ดังนั้น จึงต้องเริ่มจัดหาเงินกู้เพื่อเตรียม COD ปี 2569 เป็นต้นไป ซึ่งจะทําให้ IBD/EBITDA และ IBD/E ปรับตัวสูงกว่า covenant ที่ 6.0 และ 2.5 เท่า (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 4.0 และ 1.1 เท่า ตามลําดับ) จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลด credit rating ลงได้ (ปัจจุบันที่ BBB+) และเสี่ยงต่อการกู้ยืมเพื่อลงทุนโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต
สำหรับประโยชน์ที่ GUNKUL คาดได้รับจากการลดสัดส่วนมาถือหุ้นเพียง 50% 1) สถานะทางการเงินดีขึ้น มีโอกาสปรับเพิ่มอันดับcredit rating รองรับการขยายกําลังการผลิตในอนาคตได้อีกมาก 2) มีต้นทุนทางการเงินของโครงการฯ ที่ถูกลง จากการใช้ rating ที่แข็งแกร่งของ GULF และลดภาระดอกเบี้ย 3) สามารถรับรู้รายได้จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้ามาได้ 4) คาดหวัง synergy ซึ่งก่อให้เกิดรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีโครงการบางส่วนอีกราว 400 Mwe ที่ GUNKUL ชนะคัดเลือก แต่ยังไม่ถูกรวมไว้ในประมาณการ เบื้องต้นฝ่ายวิจัยจึงคงประมาณการ และ FV ปี 2568 ที่ 2.5 บ./หุ้น
อีกทั้งปรับเพิ่มคําแนะนําเป็น “Outperform” จากกําไร 2-3 ปีข้างหน้า ที่ทอยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมคาดหวังการเติบโตทางธุรกิจที่แข็งแกร่งร่วมกับพันธมิตรและประโยชน์เชิงนโยบายภาครัฐฯ ในการให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการติดตั้ง solar rooftop
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำ “ซื้อ” GUNKUL ที่ราคาเหมาะสม 2.30 บาท โดยมองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลง 30% จากต้นปีถึงปัจจุบัน และซื้อขายบน PER2025 ที่เพียง 8.4 เท่า ได้สะท้อนปัจจัยลบจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ (เช่นการปรับค่าไฟในเวียดนาม และการลงนามในสัญญา PPA ของการรับซื้อรอบ 2.2GW ที่ล่าช้า) ไปมากแล้ว