ศึกษาพบการใช้ ‘สายตา’ คือกุญแจสื่อสารระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
แคนเบอร์รา, 17 ก.ค. (ซินหัว) — ฮาวิก แล็บ (HAVIC Lab) ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สของออสเตรเลีย เผยว่างานวิจัยที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียเผยให้เห็นว่า “จังหวะของการสบตา” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสื่อสารทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และมนุษย์กับหุ่นยนต์
นอกจากการสบตาที่มีความสำคัญแล้ว จังหวะเวลาและวิธีการสบตายังมีผลต่อการรับรู้ความหมายของการสื่อสารด้วยเช่นกัน โดยนาธาน คารูอานา นักประสาทวิทยาด้านการรู้คิดและหัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ เปิดเผยว่าการค้นพบดังกล่าวช่วยถอดรหัสหนึ่งในพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์และวิธีการใช้สายตาเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หุ่นยนต์ หรือแม้แต่คนที่มีรูปแบบการสื่อสารต่างออกไป
ในการทดลองกับผู้เข้าร่วม 137 คน พบว่าลำดับการมองที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสื่อสารความต้องการความช่วยเหลือแบบไม่ใช้คำพูดคือมองวัตถุ สบตา และกลับไปมองวัตถุ โดยคารูอานาอธิบายว่าความหมายของสายตาอยู่ที่บริบทและลำดับ ไม่ใช่ความถี่ของการมองเพียงอย่างเดียว และที่น่าสนใจคือผู้เข้าร่วมมีปฏิกิริยาคล้ายกัน ไม่ว่าจะกับมนุษย์หรือหุ่นยนต์
คารูอานาเสริมว่ามนุษย์มีแนวโน้มตอบสนองต่อสัญญาณทางสังคม แม้จะมาจากเครื่องจักร และความเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับทั้งคนและเทคโนโลยี
งานวิจัยดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ในวารสารรอยัล โซไซตี โอเพน ไซแอนซ์ (Royal Society Open Science) ยังเสนอว่าการใส่ลักษณะการมองแบบมนุษย์ลงในหุ่นยนต์หรือผู้ช่วยเสมือนอาจช่วยให้พวกมันสื่อสารได้มีประสิทธิภาพและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังอาจต่อยอดไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ กีฬา การป้องกัน หรือสถานที่ทำงานที่มีเสียงรบกวน รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่พึ่งพาสัญญาณภาพในการสื่อสารอย่างผู้ที่มีภาวะออทิสติกหรือผู้บกพร่องทางการได้ยิน