‘รักษาตัวนอกเรือนจำ’ คดีชั้น 14 – ไต่สวนนัดที่ 4 ผู้บริหาร “ราชทัณฑ์” ใครมีอำนาจส่ง-อนุมัติ นอน รพ.ตำรวจ
ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ชั่วโมงของการไต่สวนมีการกล่าวถึงข้อกฎหมาย ระเบียบ และอำนาจตามตำแหน่งของพยานในแต่ละช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับคดีชั้น 14 ของนายทักษิณ ชินวัตร โดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเรียบเรียงพร้อมลำดับเหตุการณ์จากคำเบิกความทั้งหมด รายละเอียด และใจความบางส่วนที่ถูกเอ่ยขณะไต่สวนว่าข้อเท็จจริง “ไม่ตรงกัน”
ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้สังกัดกรมราชทัณฑ์ อย่างน้อย 4 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีชั้น 14 นอกจากนี้ยังมีบุคลากรทางการแพทย์และผู้บริหารทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ รวม 2 คน เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเป็นเหตุศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้นัดไต่สวนในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. นับเป็นการไต่สวนครั้งที่ 4 ของคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 และในครั้งนี้ ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลภายนอกที่เข้าฟังการไต่สวนจดบันทึกคำเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน เนื่องจากอาจกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล
ลำดับข้อเท็จจริง และหน้าที่ตามกฎหมายเหตุการณ์ตั้งแต่นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนักโทษชายเด็ดขาด มุ่งหน้าสู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจในช่วงเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนกระทั่งผ่านไป 180 วันสู่การพักโทษ ระหว่างทางก่อนถึงวันที่ 180 ใครมีอำนาจอะไร ใครตัดสินใจอย่างไร ภายใต้อำนาจใด
ทั้งนี้ 6 ปากที่เบิกความต่อศาล ตามลำดับ ดังนี้
- นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ – ผู้เห็นชอบให้นายทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลตำรวจ
- นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ – ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์
- นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ – ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์
- นายนัสที ทองปลาด อดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
- นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
- นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
รักษาตัวนอกเรือนจำ 30-60-120 วัน ใครอนุมัติ
ประเด็นของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ (อธิบดีและรองอธิบดี 2 ราย) เน้นไปที่การอ้างถึงกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ
พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
มาตรา 54 ให้เรือนจําทุกแห่งจัดให้มีสถานพยาบาล เพื่อเป็นที่ทําการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ป่วย จัดให้มีแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าพนักงานเรือนจําที่ผ่านการอบรมด้านการพยาบาล ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประจําที่สถานพยาบาลนั้นด้วย อย่างน้อยหนึ่งคน และให้ดําเนินการอื่นใดเกี่ยวกับการตรวจร่างกายตามมาตรา 37 การดูแลสุขอนามัย การสุขาภิบาล และการตรวจสุขภาพ ตามความจําเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ต้องขังได้รับโอกาสในการออกกําลังกายตามสมควร และจัดให้ผู้ต้องขังได้รับอุปกรณ์ช่วยเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน การบริการทันตกรรม รวมถึงอุปกรณ์สําหรับผู้มีกายพิการตามความจําเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์
- มาตรา 55 วรรคสอง หากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต นอกเรือนจำต่อไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
กฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563
ข้อ 7 กรณีผู้ต้องขังพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 เป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ ดังต่อไปนี้
พักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีพร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
พักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ
พักรักษาตัวเกินกว่า120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ
แม้กฎกระกระทรวงในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำข้างต้นระบุว่า ต้องขอความเห็นชอบจากอธิบดี แต่ในช่วงเวลาที่เกิน 30 วัน และ 60 วัน กลับไม่ใช่อธิบดีที่ปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากติดภารกิจที่ต่างจังหวัด ทำให้รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 2 ราย ณ เวลานั้นกลายเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้พักรักษาตัวนอกเรือนจำโดยปริยาย
หลังจากการรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 30 วัน รองอธิบดีก็ได้ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากมีใบประกอบความเห็นแพทย์ 1 ฉบับ ซึ่งระบุถึงอาการของโรค (ไม่สามารถเปิดเผยได้ตามคำสั่งศาล) และเหตุจำเป็นที่ต้องพักรักษาตัวต่อ ต่อมาเมื่อเกิน 60 วันของการพักรักษาตัวนอกเรือนจำ รองอธิบดีอีกรายยังคงเห็นชอบ เพราะใบประกอบความเห็นแพทย์ 1 ฉบับ ซึ่งยังคงระบุอาการของโรคเดิม ประกอบกับอาการใหม่ และเหตุจำเป็นที่ต้องพักรักษาตัวต่อ โดยทั้ง 2 ครั้ง ระบุตรงกันถึงความจำเป็นต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
เมื่อการพักรักษาตัวนอกเรือนจำดำเนินมาถึง 120 วัน อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนดังกล่าว ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2566 จึงเห็นชอบให้พักรักษาตัวต่อ พร้อมใบประกอบความเห็นแพทย์ 2 ฉบับ ระบุถึงอาการที่รุนแรงขึ้น เมื่อรวมกับประวัติการรักษาเดิม ทำให้เห็นถึงเหตุจำเป็นที่ต้องพักรักษาตัวต่อ
ประเด็นหนึ่งในการไต่สวนซึ่งศาลตั้งข้อสังเกตเป็นระยะคือ ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้มีการติดตามอาการ และไม่ได้นำตัวกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกเลย เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่านายทักษิณอยู่ในการควบคุมของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ และไม่ได้มีการร้องขอ หรือ การถามติดตามอาการกับแพทย์รพ.ตำรวจทุก 30, 60 หรือ 120 วัน มีเพียงใบรับรองแพทย์ที่ระบุอาการป่วยเท่านั้น
ศาลจึงตั้งข้อสังเกตในทำนอง “เชื่อได้อย่างไร” และพยาน “ไม่สงสัยเพิ่มเติม” ยิ่งกว่านั้นเป็นไปได้หรือไม่ ที่ในบางช่วงของการรักษาอาจไม่เกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
สืบเนื่องจากชุดคำถามประเด็นการไม่ได้นำตัวกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกเลย โดยข้อเท็จจริงได้ถูกยืนยันตรงกันจากพยานหลายปากว่าหลังจากช่วงเที่ยงคืนของคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2566 กับเหตุการณ์แอดมิทผู้ป่วยวิกฤติ นายทักษิณก็ไม่ได้กลับมาเหยียบเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีกเลย
กางกฎหมายส่งตัว-คุมขังกรณีพิเศษ เทียบเคียงเคสในอดีต
ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หรือรองอธิบดีฯ อีก 2 ราย ต่างถูกไต่สวนในเชิงอำนาจและขั้นตอนทางกฎหมาย เจตนาการอนุญาตให้พักรักษาตัว และความเห็นอื่นๆ แม้จะมีการซักถามและให้ลำดับเหตุการณ์ แต่ทั้งหมดไม่ใช่พยานปากเอกในช่วงเวลาที่นายทักษิณอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจได้ เว้นแต่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นพยานที่ได้เห็นห้องพักรักษาตัวที่ชั้น 14 และบอกว่า ไม่ต่างจาก “ห้องพยาบาลทั่วไป”**
กฎหมาย-ระเบียบฉบับหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวถึงอย่างมี ‘นัยสำคัญ’ ในการไต่สวนผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร คือกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ตัวอย่างเช่น
- ข้อ 2 เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำได้รับรายงานจากเจ้าพนักงานเรือนจำว่า ผู้ต้องขังคนใดป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ให้ส่งตัวผู้ต้องขังคนนั้นไปรีบการตรวจในสถานพยาบาลของเรือนจำโดยเร็ว ถ้าผู้ต้องขังคนนั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้าน หรือ ถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ดำเนินการ…
การยกระเบียบดังกล่าวเพื่อตอบคำถามแนวปฏิบัติในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำว่า จำเป็นต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลเครือข่ายก่อนหรือไม่ ซึ่งในบริบทนี้คือ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครต้องไปทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นลำดับแรก ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันถึงแนวปฏิบัติดังกล่าว โดยอ้างถึงพ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 55 วรรคสอง ซึ่งเปิดช่องให้ไปพักรักษาตัวนอกเรือนจำได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยเหตุผลครั้งนี้คือ ‘ผู้ป่วยวิกฤติ’
อย่างไรก็ตาม ช่วงหนึ่งของการไต่สวนได้มีการตีความกฎหมายตามข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังฯได้ระบุถึงปัญหา 2 ประเภท ได้แก่ ปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคติดต่อ แต่มิได้ชี้ชัดถึงอาการป่วยวิกฤติรุนแรงถึงแก่ชีวิต และ ‘โรคไม่ทุเลา’ จึงอาจไม่ต้องส่งตัวไปตรวจในสถานพยาบาลของเรือนจำก็ได้
ข้อ 3 การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาล หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตของรัฐตามสิทธิการรักษาของผู้ต้องขัง และอยู่ในพื้นที่ที่สามารถส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาได้เป็นลำดับแรก เว้นแต่แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษามีความเห็นให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เพราะสถานที่รักษาของรัฐดังกล่าวขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการรักษาผู้ต้องขัง
ข้อ 4 เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
ข้อ 4(1) จัดเจ้าพนักงานเรือนจำอย่างน้อยจำนวนสองคนควบคุมผู้ต้องขังป่วยหนึ่งคนให้อยู่ภายในเขตที่กำหนด เว้นแต่การออกนอกเขตนั้นเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามคำสั่งแพทย์
ข้อ 4(2) ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ทางราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้ามาอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้
ผู้บัญชาการเรือนจำฯ มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามข้อ 4 (2) กล่าวคือ กรณีนี้ต้องจัดให้นายทักษิณอยู่พักรวมกับผู้ป่วยคนอื่นๆ แต่ผบ.เรือนจำฯ ได้ย้ำให้ศาลเห็นคำว่า ‘เว้นแต่’ ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษ และตีความได้ว่าห้องพักชั้น 14 เป็นกรณีพิเศษตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการเทียบเคียงแนวปฏิบัติกับนักโทษเด็ดขาดรายอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุเกิน 70 ปี มีอาการเจ็บป่วย และขออนุญาตไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ตลอดจนมีการพยายามหาข้อเท็จจริงและข้อมูลนักโทษเด็ดขาดที่เคยพักรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน สะท้อนให้เห็นว่าจำเลยคดีนี้ได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร
ความเห็นทางการแพทย์ต่อผู้ป่วยชั้น 14
2 ปากสุดท้ายคือผู้บริหารทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้งสองรายล้วนเกี่ยวข้องในช่วงที่พักรักษาตัวเกิน 120 วัน โดยประเด็นหลักคือความเห็นทางการแพทย์ของอาการในแต่ละช่วงเวลาผ่าน Progress Note ของแพทย์และ Nurse Note ของพยาบาล และเอกสารข้อมูลผู้ป่วย ว่าอาการในแต่ละช่วงเวลา แต่ละเหตุการณ์ แต่ละวัน ทุเลาลงบ้างหรือไม่ ศัพท์ทางการแพทย์ต่างๆ บ่งชี้อะไร ยังคงวิกฤติหรือไม่ และอาการในแต่ละช่วงยังคงเกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือไม่
อีกทั้งคำถามสำคัญคือ เมื่อได้อ่านหลักฐานต่างๆ ในฐานะแพทย์สามารถสรุปได้หรือไม่ว่าอาการป่วยของนายทักษิณเกินกว่าศักยภาพของของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้งนี้ หลักฐานต่างๆ ประกอบด้วย ใบรับรองแพทย์จากต่างประเทศทั้ง 2 ประเทศ (ซึ่งเป็นเอกสารตั้งแต่ก่อนนายทักษิณเข้าเรือนจำฯ) บันทึกอาการของหมอเวร และคำบอกเล่าของพยาบาลเวรฯ
สุดท้ายเป็นเหตุการณ์สมมติ โดยศาลลำดับเหตุการณ์และให้ข้อมูลเบื้องต้น พร้อมให้ตอบในฐานะแพทย์ว่า หากอยู่ในเหตุการณ์ในช่วงดึกของคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จะตัดสินใจกับนักโทษที่ป่วยวิกฤติรายนี้อย่างไร
(อนึ่งจากรายงานข่าวก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นพยาบาลได้ระบุว่าใช้เวลา 2 ชั่วโมง นอนในห้องกักโรคชั้นสอง และให้เพียงออกซิเจนเท่านั้นกว่าจะส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ)
‘ชาญชัย’ ร้องค้านทนาย ‘ทักษิณ’ ขอศาลไต่สวนลับ คดีชั้น 14 ชี้อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ
เรื่องเล่านาทีชีวิต “ผู้ป่วยวิกฤติ” จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึงห้องพัก ชั้น 14 รพ. ตำรวจ
คดีชั้น 14 “ป่วยวิกฤติ” ให้ออกซิเจน-ใช้เวลา 2.20 ชม. จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึง รพ. ตำรวจ
ศาลฎีกาเลื่อนฟังคำสั่งคดี “กรมราชทัณฑ์” นำ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ. ตำรวจ – ขัด ป.วิอาญา?
“ชาญชัย” เตรียมฟ้อง “ราชทัณฑ์” ปมให้ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ.ต่อ – ขัด ป.วิอาญาฯ?