“ภาษีทรัมป์” เขย่า SME! ฉุดส่งออกร่วง 30% กระทบลงทุน-แรงงานไทย
การขึ้นภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ อาจทำให้เอสเอ็มอีไทยต้องเจอกับความท้าทายใหญ่ในการแข่งขันในตลาดโลก หากไทยไม่สามารถเจรจาลดภาษีได้ ความเสี่ยงจากต้นทุนสูงขึ้นอาจทำให้การส่งออกหดตัว 30% และการลงทุนจากต่างประเทศอาจลดลง 15% ส่งผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างรุนแรง
จากกรณีที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกจดหมายเวียนแจ้งประเทศต่าง ๆ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2568 ถึงอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่มีการปรับบางประเทศเจรจาจบแล้วได้รับอัตราที่ลดลง หลายประเทศยังคงได้รับอัตราเดิมที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ทั้งที่เจรจาเสร็จสิ้นแล้วหรือยังอยู่ระหว่างการเจรจา มีบางประเทศได้รับอัตราเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้หากพิจารณาอัตราภาษีของไทยที่จะถูกบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ที่ 36% ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา สินค้าทุกชนิดที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหรัฐอเมริกาถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10% เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ จึงมีการเร่งนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อลดความเสี่ยงที่ราคาสินค้าจะสูงขึ้นจากภาษีที่ประกาศไว้
ทำให้ SME ไทยและผู้ประกอบการส่งออกได้รับอานิสงส์ ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกรวมของประเทศไปยังสหรัฐอเมริกาช่วง ม.ค.-พ.ค. 2568 มีมูลค่า 27,098 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 27.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นตลาดอันดับ 1 ของประเทศ ส่วนสินค้าจาก SME ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 3,049 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 29.8 % เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของ SME
โดยสินค้าส่งออก 5 ลำดับแรกของ SME ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ (เช่น อุปกรณ์เครื่องปรับอากาศเครื่องประมวลผล) อุปกรณ์ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเฟอร์นิเจอร์
ซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคถึง 60% ส่วนการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาในภาพรวมมีมูลค่า 8,553.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6% เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย
ขณะที่ SME มีการนำเข้า 1,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 12.2% ของมูลค่านำเข้ารวม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61.1% เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญลำดับที่ 5 ของ SME ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญของ SME ได้แก่ แก๊ส LNG เครื่องจักร เหล็กกล้า อะลูมิเนียม และอุปกรณ์ไฟฟ้า
ซึ่งเป็นสินค้าขั้นกลางสำหรับใช้ในการผลิต ด้านดุลการค้าช่วง 5 เดือนแรกของปี ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐไปแล้ว 18,545 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ SME ไทยเกินดุล 2,004.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
หากผลการเจรจาประสบความสำเร็จทำให้ไทยได้รับภาษีตอบโต้ในอัตราเดียวกับประเทศคู่แข่งที่มีลักษณะสินค้าใกล้เคียงกับไทยจะไม่ได้สร้างผลกระทบด้านความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้า และจะช่วยให้การส่งออกครึ่งปีหลังยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง
แต่หากไทยต้องรับภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงกว่า 25% ไทยจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่มีสินค้าลักษณะใกล้เคียงกับสินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้ เช่น เวียดนามที่ได้รับภาษีตอบโต้ที่อัตรา 20% มาเลเซีย 25% หรืออินโดนีเซีย 32% เป็นต้น
ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเมินว่าไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จากต้นทุนการจำหน่ายสินค้าไทยในสหรัฐอเมริกาที่จะสูงกว่าประเทศคู่ค้าถึง 16% ซึ่งมากพอที่จะทำให้ผู้นำเข้าเปลี่ยนไปเลือกซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน
โดยในระยะสั้นไทยจะส่งออกสินค้าได้ลดลง ส่วนใหญ่การนำเข้าดำเนินการผ่านผู้นำเข้าในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ดังนั้นการเลือกสินค้าที่จะนำเข้าไปจำหน่ายเป็นการตัดสินใจโดยผู้นำเข้า จึงเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการไทยที่จะโดนสินค้าลักษณะเดียวกันที่สามารถผลิตได้โดยประเทศอื่นมาทดแทนได้
สสว. คาดว่าช่วง 5 เดือนหลังตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 25-30% คาดว่าปี 2568 การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะเติบโตเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 5.04% ด้วยมูลค่ารวม 6,428.79 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ขยายตัวในช่วง 5 เดือนแรกของปีถึง 29.8%
ผลกระทบทางอ้อมจากภาษีดังกล่าวส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะลดลงถึง 15% และในระยะยาวจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ได้รับภาษีต่ำกว่า การจ้างงานในประเทศจะลดลงโดยเฉพาะจากภาคการผลิต รายได้ของแรงงานในประเทศลดลง เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น
การทะลักของสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการหาตลาดใหม่ทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะเข้ามามายังประเทศไทย ส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจไทยในระยะยาวหากยังไม่เตรียมการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
สสว. คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลให้ GDP SME ปี 2568 ลดลงจากเดิมที่เคยประมาณการไว้อีก 0.9% ส่งผลให้ประมาณการ GDP SME ปี 2568 ขยายตัวได้ที่ 1.7% จาก 2.6% ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือน เมษายน 2568
ทั้งนี้ สสว. ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ส่งออก SME ในเบื้องต้นพบว่ายังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้า 12 กลุ่มหลัก ซึ่งมี SME ประมาณ 3,700 ราย แต่ผลกระทบจะมีการขยายผลต่อไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ภายในประเทศดังที่ได้กล่าวมา
ดังนั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว SME ไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการหาตลาดใหม่และคู่ค้าในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และพิจารณาการใช้ฐานการผลิตจากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษี
นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน หรือการสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจในประเทศกับนักธุรกิจจากต่างประเทศ การพัฒนาจุดแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดผล เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเป็นศูนย์กลาง Wellness and Medical Hub การเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาครองรับการเป็นศูนย์กระจายสินค้า
รวมทั้งการหาแนวทางจัดการสินค้าที่จะทะลักเข้ามาในประเทศให้กระทบสินค้าไทยให้น้อยที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแนวทางที่จะช่วยผู้ประกอบการได้ประโยชน์ในระยะต่อไปจากการดำเนินการดังกล่าว และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยหลุดพ้นจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในครั้งนี้ได้