บีโอไอจัดหนัก เพิ่มสิทธิประโยชน์ ดึงทุนไทย-FDI ไม่ไหลออก สู้ภาษีสหรัฐ 36%
จากที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการถึงไทย เตรียมเรียกเก็บ ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) อัตรา 36% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องเร่งเตรียมมาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในมิติ การส่งออกและการลงทุน ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง
อัตราภาษีใหม่นี้อาจทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนมากถึง 18% ของการส่งออกไทยในภาพรวม ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่าไทย เช่น เวียดนาม 20%, มาเลเซีย 25%, อินโดนีเซีย 32% และสิงคโปร์เพียง 10% ส่งผลให้การผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ อาจเสียเปรียบคู่แข่งในภูมิภาคทันที
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “BOI” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐ ประกาศ Reciprocal Tariff ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา BOI ได้หารือกับผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้ออกมาตรการชุดใหม่ที่เรียกว่า “มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่” เพื่อตอบโจทย์ 2 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1.การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศให้แข็งแกร่ง พร้อมรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย คือ
1.1 มาตรการส่งเสริมให้ SMEs ไทย ปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อกระตุ้นให้ SMEs ไทย ลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล การประหยัดพลังงาน การยกระดับสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ SMEs ไทย จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ในวงเงินร้อยละ 100
1.2 มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย (Local Content) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า หากบริษัทได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศตามสัดส่วนที่กำหนด (การผลิต BEV ร้อยละ 40 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด, PHEV ร้อยละ 45, ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 15 และเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 40) จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 2 ปี
2.การลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของสหรัฐอเมริกา และจัดระเบียบการลงทุนในบางสาขา เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่เปราะบาง และรักษาระดับการแข่งขันให้เหมาะสม ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย คือ
2.1 เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับบางกิจการที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากมาตรการการค้าสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมเบา โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขชัดเจนว่า ต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ โดยมีการแปรสภาพวัตถุดิบหลักเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ เช่น มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรอย่างน้อยในระดับ 4 หลัก เพื่อให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชัดเจนมากยิ่งขึ้น
2.2 จัดระเบียบการลงทุนในบางสาขา โดย
(1) กิจการที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง และมีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐฯ โดยงดส่งเสริมกิจการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ตกแต่งยานพาหนะ และกำหนดหุ้นไทยข้างมากในอุตสาหกรรมเบาบางสาขา เช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์ กระเป๋า และสิ่งพิมพ์ (ยกเว้นโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน)
(2) กิจการที่มีปริมาณผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) โดยงดส่งเสริมกิจการผลิตเหล็กขั้นปลาย เช่น เหล็กทรงยาวทุกชนิด เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นหนา ท่อเหล็ก และกิจการตัดโลหะ (3) กิจการที่มีความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน เช่น กิจการรีด ดึง หล่อ หรือทุบโลหะ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เคมี และพลาสติก โดยงดให้สิทธิถือครองที่ดิน เพื่อให้กิจการเหล่านี้ต้องตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและได้รับการกำกับดูแลที่รัดกุมมากขึ้น
2.3 ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยหากเป็นกิจการผลิตที่มีการจ้างงานทั้งบริษัทตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีการจ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70
นอกจากนี้ ได้กำหนดรายได้ขั้นต่ำของบุคลากรต่างชาติที่จะขอใช้สิทธิด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานกับบีโอไอ เช่น ถ้าเป็นระดับผู้บริหาร ต้องมีรายได้ 150,000 บาทขึ้นไป และระดับผู้เชี่ยวชาญ 50,000 บาทขึ้นไป เพื่อสร้างสมดุลการจ้างงานในประเทศให้เหมาะสม และกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทยได้
BOI ยังกำลังเตรียมพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยจะเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เช่น กลุ่มอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น