ผวาสหรัฐเก็บภาษีไทยโหด 36% ทุบขีดแข่งขันพ่ายเวียดนาม จี้ทุกฝ่ายเตรียมรับมือ
ประเทศไทยเดินหน้าเจรจากับสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีตอบโต้สูงสุด 36% ที่อาจเริ่มบังคับใช้หลังเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่มีความชัดเจนจากฝั่งสหรัฐ ว่าจะตอบรับข้อเสนอจากไทยมากน้อยเพียงใด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้เกมเจรจาครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคส่งออกไทยไปสหรัฐในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการเจรจาภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐ สามารถออกได้ในหลายฉากทัศน์ โดยปัจจุบันไทยเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจากับสหรัฐ ขณะที่หลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้เจรจารอบแรกไปก่อนหน้าแล้ว
ล่าสุดเวียดนามได้ข้อสรุปผลการเจรจากับสหรัฐแล้ว โดยที่สหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียนามในอัตรา 20% และในอัตรา 40% สำหรับสินค้าจากต่างประเทศ(ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีน) ที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าสวมสิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐ ขณะที่เวียดนามจะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเป็น 0%
สำหรับฉากทัศน์หลักของไทยที่เพิ่งเจรจารอบแรกกับสหรัฐ และยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดครั้งนี้ ในเบื้องต้น มองว่า มีความเป็นไปได้ 3 แนนวทาง
ฉากทัศน์แรก ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากเจรจาไม่สำเร็จ และสหรัฐ เริ่มเก็บภาษีตอบโต้ที่ 36% ตามที่ประกาศไว้ มูลค่าส่งออกไทยทั้งปีนี้อาจขยายตัวเหลือเพียง 6-6.5% จากที่ช่วง 5 เดือนแรกขยายตัวได้ 14.9% แม้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 10% ก็ตาม
ฉากทัศน์ที่ 2 กรณีเจรจาบรรลุผลในเส้นตาย ไทยอาจถูกเก็บภาษีในอัตราตํ่าลง เช่น 15-20% ซึ่งจะทำให้ส่งออกทั้งปีโตได้ 8-8.5% และไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งขันรวมถึงเวียดนามมากนัก
ฉากทัศน์ที่ 3 กรณีเจรจาไม่จบ แต่สหรัฐขยายเวลาออกไปอีก 15-30 วัน เพื่อเปิดโอกาสเจรจาในรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งเดิมมองว่าก็มีความเป็นไปได้ที่จะออกแนวทางนี้ เพราะสหรัฐ เองยังอยู่ระหว่างเจรจากับอีกกว่าร้อยประเทศทั่วโลก โดยมีเพียงอังกฤษ จีน และเวียดนามเท่านั้นที่สามารถตกลงกันได้แล้ว
อย่างไรก็ดีล่าสุดขณะที่รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเตรียมเริ่มส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้าให้ประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป โดยจะทยอยส่งให้ครั้งละ 10 ประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนนโยบายจากการเจรจาแบบรายประเทศมาเป็นการประกาศภาษีพร้อมกัน เพื่อลดความซับซ้อนจากการเจรจากับกว่า 170 ประเทศทั่วโลก
โดยอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจะแตกต่างกันไป เช่น 10% สำหรับประเทศที่มีข้อตกลงบางส่วน และสูงถึง 20–30% สำหรับประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลง ส่วนคู่ค้าหลักที่อยู่ระหว่างเจรจา เช่น สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น อาจโดนสูงถึง 20–26%
สำหรับประเทศที่ยังไม่มีการเจรจาใด ๆ จะต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงมาก เช่น เลโซโท 50%, มาดากัสการ์ 47% และไทย 36% (ข้อเท็จจริงไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐและยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้า)
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เพิ่งตกลงลดภาษีเวียดนามจาก 46% เหลือ 20% เมื่อวันที่ 3 กกรกฎาคม ขณะที่รัฐมนตรีการคลังสหรัฐคาดจะมีการเร่งประกาศข้อตกลงหลายฉบับก่อนถึงเส้นตาย 9 กรกฎาคม ซึ่งอาจมีการขึ้นภาษีรอบใหญ่ตามมา
อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีตอบโต้ที่ไทยจะได้รับจะเป็นอย่างไร จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอเพื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษีของประเทศที่เป็นคู่แข่งขันสำคัญของไทยที่จะได้รับเช่น มาเลเซีย ซึ่งเดิมจะถูกเก็บภาษีที่ 24% อินโดนีเซียที่ 32% กัมพูชาที่ 49% และลาวที่ 48% ว่าที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร นอกเหนือจากเวียดนามที่ทราบข้อสรุปไปแล้ว ว่าสหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามที่ 20%
โดยหากไทยได้รับอัตราภาษีที่ใกล้เคียงกันกับเวียดนาม คงไม่เสียเปรียบในการแข่งขันส่งออกสินค้าไปสหรัฐไปจากเดิมมากนัก แต่หากที่สุดแล้วกรณีเลวร้ายไทยเสียภาษีที่ 36% คงเสียเปรียบในการแข่งขันกับเวียดนามมาก ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต้องเตรียมวางแผนรับมือร่วมกัน
“ถ้าสหรัฐเปลี่ยนมาจัดเก็บภาษีทุกประเทศในอัตราเดียวกันที่ 25% อย่างที่ทรัมป์พูดไว้ก่อนหน้านี้ ก็อาจช่วยลดแรงเสียดทานจากบางประเทศได้บ้าง แต่จีนอาจไม่ยอม เพราะเขาเพิ่งตกลงกับสหรัฐว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ 55% เทียบกับที่จีนเก็บภาษีสหรัฐแค่ 10%” ดร.อัทธ์ กล่าว