“สถานีแก้หนี้ครู” ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแนวทางช่วยครูอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำ “แนวทางการดำเนินงานสถานีแก้หนี้ครู” ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สหกรณ์ออมทรัพย์, ศึกษาธิการจังหวัด, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา, สถานศึกษา และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 45 คน เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
สำหรับการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานของสถานีแก้หนี้ครูให้มีความชัดเจน เป็นระบบ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืนและครอบคลุม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ และร่วมกันออกแบบแนวทางการดำเนินงานของสถานีแก้หนี้ครูใน 5 หมวดสำคัญ ได้แก่ 1. บทนำ 2. บทบาทและหน้าที่ของสถานีแก้หนี้ครู 3. แนวทางการดำเนินงาน 4. รูปแบบการประสานงาน และ 5. แนวทางการติดตามและประเมินผล ทั้งนี้ ผลจากการประชุมจะนำไปสู่การจัดทำร่างแนวทางสถานีแก้หนี้ครูฉบับสมบูรณ์ และนำไปทดลองใช้จริงในสถานีแก้หนี้ครูนำร่อง ก่อนขยายผลในระดับประเทศต่อไป
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนำโดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการลดภาระหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสานต่อจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อความยั่งยืน ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สพฐ. ภายใต้การนำของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ยืนยันจะเร่งขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบการศึกษาไทยที่มั่นคงจากพื้นฐานชีวิตที่มีคุณภาพทั้งทุกครอบครัวของครูต่อไป
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งสถาบันทางการเงิน ผู้บังคับบัญชา คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานีแก้หนี้ของจังหวัด เข้ามาร่วมกันดำเนินการ วางแผน แก้ไข ขับเคลื่อนภายใต้กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ ในการหักเงินเดือนชำระหนี้ ซึ่งจะต้องให้มีเงินเดือนเหลือไม่ต่ำกว่า 30% และยืดหยุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบางในแต่ละกรณี ต้องคำนึงว่าทำอย่างไรที่ยังให้บุคลากรเหล่านั้นดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ซึ่งภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินการสถานีแก้หนี้ในปัจจุบัน มีหลายเขตสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ มีการวางแผน ประสานความร่วมมือช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรในสังกัดได้มีโอกาสในการดำรงชีวิตด้วยความสุขกายสบายใจ อย่างเช่น สถานีแก้หนี้นครราชสีมา ที่มีผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจ ประสบผลสำเร็จในการช่วยเหลือสมาชิกที่มีปัญหาค้างชำระกับธนาคาร จำนวนทั้งสิ้น 447 สัญญา โดยดำเนินการเจรจาและปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่สมาชิก จนลดภาระดอกเบี้ยรวมได้ประมาณ 3.8 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ขอฝากให้คณะกรรมการ และคณะทำงาน ถ่ายทอดประสบการณ์ในการขับเคลื่อนร่วมกัน ศึกษาวิเคราะห์เคสต่าง ๆ ที่สามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อการวางแนวทางช่วยเหลือครู และนำเคสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จัดทำเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาแต่ละประเภท ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งบุคลากรที่มีหนี้ ผู้ค้ำประกัน ข้าราชการบำนาญ และต่อยอดการแก้ปัญหาเพื่อให้เพื่อนครูดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่งเสริมให้ข้าราชการครูและบุคลากรฯ ได้รับองค์ความรู้จากการอบรมการบริหารจัดการเงินอย่างชาญฉลาด Money Coach เพื่อการดำรงชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างภูมิคุ้มกันการดำรงชีวิตที่มั่นคงต่อไป
“สถานีแก้หนี้ครูเป็นความร่วมมือ และคำปรึกษา ตอบโจทย์ชีวิตของครูผู้มีภาระหนี้สิน และก้าวข้ามความทุกข์แบบไม่โดดเดี่ยวและมีความสุขในอนาคตไปด้วยกัน โอกาสนี้ ขอบคุณทีม ศนค.สพฐ. ที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ ขอบคุณเครือข่ายทุกหน่วยที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือครูทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สิ่งสำคัญ คือ ถ้าเรามีคุณครูที่เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ คุณภาพของงาน การสร้างงานในอนาคตของ สพฐ. จะประสบความสำเร็จและเป็นองค์กรคุณภาพ ส่งผลให้การยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว