"หับเผยสมุทรปราการ" น้ำปลาจากปลาหมอคางดำ สู่ของดีคู่ครัวไทย
กรมประมงเดินหน้าบูรณาการภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น นำร่องโครงการหมักน้ำปลาจาก “ปลาหมอคางดำ” สัตว์น้ำต่างถิ่นที่สร้างปัญหาระบบนิเวศ โดยใช้ชื่อแบรนด์ “หับเผยสมุทรปราการ” ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นคู่ครัวไทย พร้อมถ่ายทอดทักษะอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางสมุทรปราการ เป็นการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ฟื้นฟูแหล่งน้ำ และช่วยคืนคนดีสู่สังคม
นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำ แม้จะเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่สามารถบริโภคและแปรรูปได้ การหมักเป็นน้ำปลาเป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และขยายตลาดไปยังครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำปลาเป็นของที่อยู่ในทุกครัวเรือน จึงสามารถกลายเป็นสินค้าชุมชนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ช่วยควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในธรรมชาติ
การดำเนินการควบคุมปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรปราการมีความต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เพื่อจับปลาออกจากแหล่งน้ำ นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ เช่น หมักน้ำปลา และทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ
โดยสมุทรปราการได้ร่วมมือกับสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่รับซื้อปลาหมอคางดำถึง 50,000 กิโลกรัม เพื่อทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในโครงการ “กองทุนปลากะพง” สนับสนุนเกษตรกรลดต้นทุนในการกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง
ด้านนายวิชา ม่วงจินดา เจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญงาน เรือนจำกลางสมุทรปราการ ระบุว่า การฝึกหมักน้ำปลาจากปลาหมอคางดำในเรือนจำ เป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์หลายด้าน ทั้งในเชิงโภชนาการ โดยจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารในเรือนจำ และในเชิงพัฒนาอาชีพ
โดยผู้ต้องขังจะได้เรียนรู้ทักษะการหมักน้ำปลาไว้ใช้เลี้ยงชีพหลังพ้นโทษ พร้อมมีแนวทางพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ “หับเผยสมุทรปราการ” เพื่อยกระดับสู่สินค้าชุมชนที่ผ่านมาตรฐานความสะอาดและคุณภาพ
ทั้งนี้ โครงการหมักน้ำปลาจากปลาหมอคางดำ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กรมประมง กรมราชทัณฑ์ และ ซีพีเอฟ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2567 ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และ สมุทรปราการ โดยล่าสุด ประมงจังหวัดสมุทรสงครามอยู่ระหว่างส่งตัวอย่างน้ำปลาชุดแรกให้กรมประมงตรวจสอบรับรองคุณภาพ เพื่อปูทางพัฒนาเป็นสินค้าต้นแบบในอนาคต
โครงการดังกล่าวถือเป็นต้นแบบของการบูรณาการนโยบายสิ่งแวดล้อมและสังคม สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าจากสัตว์น้ำต่างถิ่น ช่วยลดผลกระทบทางระบบนิเวศ พร้อมกับสร้างรายได้ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม