ทุนสำรองทองคำจากเหมืองในประเทศ หนุนเศรษฐกิจ–ท้าทาย Net Zero
เทรนด์ล่าสุดธนาคารกลางหลายประเทศหันซื้อตรงจากเหมืองในประเทศ เพิ่มทุนสำรองทองคำโดยไม่ใช้เงินตราต่างประเทศ ขณะที่หลายประเทศพยายามเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในระดับโลก
รายงานล่าสุดจาก World Gold Council (WGC) ที่เผยแพร่ผ่าน CNBC ชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของภาพใหญ่ดังกล่าว เมื่อธนาคารกลางหลายแห่งกำลังเร่งสะสมทองคำเป็นทุนสำรองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ประเทศผู้ผลิตทองคำหลายประเทศหันมาซื้อทองคำ “โดยตรง” จากเหมืองภายในประเทศของตนเอง แทนที่จะนำเข้าจากตลาดโลก
จากการสำรวจล่าสุดของ WGC ที่เก็บข้อมูลจากธนาคารกลาง 36 แห่ง พบว่า 19 แห่งระบุว่า พวกเขากำลังซื้อทองคำโดยตรงจากผู้ผลิตในประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่น และอีก 4 แห่งกำลังพิจารณาจะทำเช่นเดียวกัน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีเพียง 14 ธนาคารกลางจาก 57 แห่งที่ซื้อทองคำจากภายในประเทศโดยตรง
เซาไค ฟาน หัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางทั่วโลกของ WGC กล่าวว่า แนวโน้มหนึ่งที่เห็นคือ ธนาคารกลางบางแห่ง โดยเฉพาะในแอฟริกาและลาตินอเมริกา กำลังเริ่มซื้อทองคำโดยตรงจากเหมืองทองคำขนาดเล็กในประเทศ ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้น
ปัจจุบัน ธนาคารกลางของหลายประเทศ เช่น โคลอมเบีย แทนซาเนีย กานา แซมเบีย มองโกเลีย และฟิลิปปินส์ ได้หันมาพึ่งพาทองคำที่ขุดได้ในประเทศ เพื่อเพิ่มทุนสำรองของตน ข้อมูลจาก Reuters ระบุว่า หน่วยงานรัฐของกานาได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทเหมืองหลายแห่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อซื้อทองคำ 20% ของผลผลิตจากเหมืองในประเทศ เช่นเดียวกับแทนซาเนีย ที่ออกคำสั่งให้ผู้ส่งออกทองคำกันส่วนหนึ่งไว้ขายให้กับธนาคารกลาง
แนวทางนี้ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ และไม่เป็นภาระต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากสามารถใช้สกุลเงินท้องถิ่นซื้อทองคำได้โดยตรง ฟานระบุว่า สามารถเพิ่มทุนสำรองโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียสละสินทรัพย์สำรองอื่นอย่างดอลลาร์สหรัฐ
เอเดรียน แอช ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจาก BullionVault เสริมว่า ท่ามกลางราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ การที่ธนาคารกลางหันมาใช้ทองคำที่ผลิตได้เองในประเทศจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การนำทองคำมาใช้เป็นทุนสำรองยังต้องผ่านกระบวนการแปรรูปให้ได้ตามมาตรฐาน “London Good Delivery” (LGD) ซึ่งเป็นเกณฑ์สากลที่ใช้ในตลาดทองคำโลก หากประเทศไม่มีโรงสกัดภายในประเทศ การส่งออกไปแปรรูปที่ต่างประเทศจะเพิ่มต้นทุน เช่น ประเทศอย่างกานาและแซมเบียยังต้องพึ่งพาโรงสกัดจากภายนอก ขณะที่ฟิลิปปินส์และคาซัคสถานมีโรงสกัดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานภายในประเทศแล้ว
การเพิ่มความต้องการทองคำในประเทศและการเร่งสะสมทุนสำรองด้วยวิธีนี้ กำลังจุดประเด็นถกเถียงใหม่ในเวทีสิ่งแวดล้อม เมื่อกลไกทางเศรษฐกิจนี้อาจขัดกับเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของโลก
รายงานระบุว่า การผลิตทองคำมีความแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง เช่น แคนาดาหรือออสเตรเลีย มักมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ชัดเจนและใช้เทคโนโลยีสะอาดมากกว่า ในทางตรงกันข้าม บางประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำหรือกฎระเบียบไม่เข้มงวด มักประสบปัญหาการใช้สารเคมีรุนแรง เช่น ไซยาไนด์ หรือการจัดการน้ำเสียไม่เหมาะสม
แม้ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่หลายประเทศใช้ป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แต่การขุดทองคำเพื่อสะสมในระดับนโยบายกลับอาจกลายเป็นความย้อนแย้งเชิงนโยบายต่อเป้าหมาย Net Zero หากไม่มีแนวทางควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน การเร่งสะสมทองคำจากเหมืองในประเทศโดยไม่มีมาตรฐานด้านความยั่งยืนหรือแนวทางการจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาจยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อแผนสภาพภูมิอากาศ และทำให้คำมั่น Net Zero ที่เคยประกาศไว้ กลายเป็นภาระในทางปฏิบัติ ในขณะที่ตลาดโลกยังไม่มีมาตรฐานสากลกลางในการตรวจสอบทองคำสะอาดที่ผลิตอย่างยั่งยืน