เกษตรกรราชบุรีปาดเหงื่อมะพร้าวน้ำหอมราคาตกเหลือลูก 4 บาท ค้างสต๊อกวันละ 2 ล้านลูก วอนรัฐช่วย
ราชบุรี - เกษตรกรปาดเหงื่อมะพร้าวน้ำหอมราคาตกเหลือลูก 4 บาท ค้างสต๊อกวันละ 2 ล้านลูก วอนรัฐช่วย เกษตรกรชาวสวนราชบุรี ร้องรัฐบาลช่วยด่วน หลังราคามะพร้าวน้ำหอมหน้าสวนลดเหลือลูกละ 4 บาท ตกค้าง 2 ล้านลูกต่อวัน อยากให้กระทรวงพาณิชย์เร่งหาแนวทางระบายผลผลิต และกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งประสานโรงงานช่วยเหลือนำไปเจาะน้ำ
( 15 ก.ค. 68 ) สถานการณ์ราคามะพร้าวน้ำหอมที่ จ.ราชบุรี ขณะนี้กำลังประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำหน้าสวนขายอยู่เหลือลูกละ 4 บาท เมื่อเทียบกับราคาปีที่แล้วเคยขายได้หน้าสวนถึงลูกละเกือบ 30 บาท เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกิดภาวะภัยแล้ง ผลผลิตออกน้อย ทำให้หน้าสวนมีราคาแพง ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการล้งต่าง ๆได้เลิกจ้างแรงงานไปเพราะสู้ไม่ไหว ส่วนแรงงานก็ได้หันไปรับจ้างทำอาชีพอื่นต่อเพื่อเลี้ยงชีพ แต่มาปีนี้ดินฟ้าอากาศดี น้ำดี จึงทำให้ผลผลิตมะพร้าวออกมามาก คนงานที่เคยรับจ้างก็มีน้อยลงไม่ได้กลับมารับจ้างอีก จากการสอบถามข้อมูลทราบว่ามีคนงานที่รับจ้างปอก และควั่นมะพร้าวหายไปในระบบประมาณ 4,600 คน ผลผลิตที่ออกมาแต่ละวัน มีมากวันละหลายล้านลูกเฉพาะพื้นที่ จ.ราชบุรี มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอมประมาณ 2 แสนไร่ เป็นพื้นที่ ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งขณะนี้มะพร้าวน้ำหอมเหลือตกค้างอยู่ในระบบประมาณ 2 ล้านลูกต่อวัน
นางสาวชนัญญา เชวงโชติ เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวน้ำหอม กล่าวว่า ราคามะพร้าวตอนนี้หน้าสวนขาย 3 - 4 บาท ต่อลูก เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ราคา 30 - 40 บาทต่อลูก เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จากเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีอากาศร้อนจัด ทำให้มะพร้าวไม่มีผลผลิต ราคาแพงขึ้น แต่มาปีนี้ฝนมาเร็วทำผลผลิตมะพร้าวออกเยอะ ประกอบกับตลาดที่มีกลไกยังไม่สมบูรณ์ ขณะที่ห้างค้าปลีกต่าง ๆ ยังมีมะพร้าวขายลูกละ 40-50 บาท อยู่ มีบางส่วนเป็นผู้ประกอบการเช่นทำกาแฟมะพร้าว มะพร้าวปั่นนมสด น้ำมะพร้าวบรรจุขวดเมื่อปีที่แล้ว ด้วยเหตุที่มะพร้าวแพงจึงซื้อไม่ไหว เพราะต้นทุนสูง ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้หายไปจากวงการมะพร้าว ส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ที่สวนตนเองจะตัดขายในประเทศประมาณ 15-17 วัน ประมาณ 3,000 - 10,000 ลูกต่อครั้ง ส่วนกรณีถ้าส่งออกต่างประเทศจะตัดมีระยะเวลาประมาณ 20 - 25 วัน จึงอยากให้รัฐช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนก่อน คือตอนนี้เกษตรกรอยู่ในภาวะที่ขาดทุน เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ลูกละ 6 บาท หน้าสวนขาย 3 บาท เท่ากับว่าเกษตรกรขาดทุนแล้ว จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่ม เกี่ยวกับมะพร้าวหันมาใช้มะพร้าว หันกลับมาทำธุรกิจต่อยอดอาชีพไปได้
ส่วนปัญหาเรื่องแรงงานส่วนของโรงงานมะพร้าวขาดหายไปประมาณ 4,600 คน ทำให้ผลผลิตที่ออกมาเยอะไม่เพียงพอกับแรงงานที่ทำเพื่อส่งออก สาเหตุเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากที่ไม่มีมะพร้าวและยังมีราคาแพง ทำให้โรงงานต่าง ๆ ขาดทุน บางแห่งปิดโรงงานไป เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว แรงงานส่วนนี้ไปทำงานที่อื่น แต่พอปีนี้มะพร้าวได้กลับเข้ามา แต่แรงงานที่หายไม่ได้กลับมาด้วย ทำให้เป็นปัญหาคือ ผลผลิตมีมาก แต่ออเดอร์ส่งออกยังมีอยู่ทำให้ผลิตไม่ทัน จนราคาตกต่ำลง
นายเสน่ห์ ชูนิต ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมส่งออกราชบุรี กล่าวว่า พื้นที่อำเภอดำเนินสะดวกปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นหมื่นไร่ ถือเป็น 1 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม โดยราชบุรีถือเป็นจังหวัดที่ปลูกมากที่สุด ส่วนปัญหาคือ มาจากคนซื้อ ล้งใหญ่ และต่างประเทศ มีการคุยกันทางโทรศัพท์พร้อมกับตั้งราคาให้เรา ทั้งที่ราคาปลายทาง ยังมีราคาที่ 90 - 115 บาทอยู่ คล้ายเป็นการกดราคา เพราะเราเหมือนเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ ส่วนปลายน้ำยังไม่เก่ง ผลผลิตที่ตัดกันบางล้งไม่มีคนงาน ขาดแรงงาน ทำไม่ทัน มีผลกระทบมาจากปี 67 จากมะพร้าวมีน้อย ทำให้ต้องเอาคนงานออก คนงานไปทำงานที่อื่นกันหมด ผลกระทบจึงทำให้มะพร้าวล้นตลาด ทำให้ถูกกดราคาหน้าสวนเหลือลูกละ 4 บาท ตอนนี้ได้หาแนวทางร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และนายกสมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทยเพื่อหาทางเร่งระบายผลผลิตออกให้เร็วที่สุด และจะได้เร่งตามเรื่องที่พาณิชย์จังหวัดจะหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร
นายจรัญ เจริญทรัพย์ นายกสมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย กล่าวว่า มะพร้าวน้ำหอมจะขายส่งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 6 ล้านลูกต่อวัน มีตลาดจีน อเมริกา ออสเตรเลีย ส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เจาะน้ำไปทางอเมริกาประมาณ 2 ล้านลูกต่อวัน ยังมีที่ขายในประเทศประมาณ 2 ล้านลูกต่อวัน ผลผลิตที่ออกมาอยู่ที่ 12 ล้านลูกต่อวัน จึงจะเกินจำนวนไปอีก 2 ล้านลูกต่อวัน ทำให้ราคาผลผลิตของเกษตรกร ต่ำลงกว่าต้นทุนซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ลูกละ 6 บาท ตอนนี้มีปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรขาดทุนแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานด้านกระทรวงพาณิชย์หรือ พาณิชย์จังหวัดช่วยกระจายสินค้าไปตามแหล่งท่องเที่ยว ส่วนราชการต่างๆ หัวเมืองต่างๆให้มีการระบายมะพร้าวส่วนหนึ่งออกไป เพื่อช่วยขับเคลื่อนสามารถที่จะผลิตได้ตามวงจรไม่ตกค้างเหลือในโรงงานผลิต ส่วนของภาคอุตสาหกรรม อยากให้ทางหน่วยงานติดต่อประสานโรงงานเจาะน้ำใหญ่ๆ ช่วยเร่งออเดอร์ในการช่วยเร่งเจาะน้ำมะพร้าวน้ำหอมเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ให้ล้นตลาด
นอกจากนี้เป็นเรื่องของเกษตรที่จะต้องเร่งหาทางการลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยที่ถูกตามหลักวิชาการ เพื่อลดต้นทุนการปลูกมะพร้าว จะมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรจังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร พาณิชย์จังหวัดเรื่องการค้าขาย ภาคอุตสาหกรรมจะเป็นเรื่องโรงงานใหญ่ๆที่ช่วยเหลือซื้อไปเจาะน้ำ และเรื่องของล้งมะพร้าวที่จะเพิ่มแรงงานผลิตอย่างไรให้เพียงพอต่อผลผลิตมะพร้าวที่ออกมาสู่ตลาดขณะนี้ ส่วนมะพร้าวปัจจุบันยังล้นระบบมากถึงวันละ 2 ล้านลูก ยังไม่สามารถนำไปแปรรูปส่งออกได้ ส่งผลให้มะพร้าวล้นสต็อก จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐ เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนด้วย