"ชัชชาติ" พาดู ชุมชนสงวนคำ ต้นแบบแยกขยะ ยืนยัน กทม.แยกจริง ไม่เทรวม
19 ก.ค.68 ที่ชุมชนสงวนคำ เขตหนองแขม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร แนะนำต้นแบบการคัดแยกขยะ ตามนโยบาย 'แยกขยะ ลดค่าธรรมเนียม' ซึ่งกทม.จะเริ่มเก็บค่าขยะอัตราใหม่ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ สำหรับประเภทบ้านเดี่ยว หากคัดแยกขยะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน หากไม่คัดแยกเสีย 60 บาทต่อเดือน
เนื่องจาก ชุมชนสงวนคำ เป็นต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2553 มีการออกแบบการจัดการขยะครบวงจรภายในชุมชน ได้แก่ 1.จุดรวมขยะเพื่อให้รถขยะของ กทม.เข้ามาจัดเก็บได้สะดวก 2.จุดคัดแยกขยะมีราคา (รีไซเคิล) เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว 3.จุดทิ้งขยะอินทรีย์ เช่น ใบไม้ เศษอาหาร เพื่อหมักปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ 4.ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลประจำชุมชน
นางยุพิน สงวนคำ ประธานชุมชนสงวนคำ เล่าว่า ที่นี่ใช้ความสมัครใจของคนในชุมชนเป็นหลัก อาศัยหลักการ 'เห็นคนอื่นทำได้เราก็ทำได้' โดยชุมชนจัดให้มีโครงการ 'ขยะเแลกไข่' เพิ่มเติม เช่น นำน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว หรือขยะอันตรายอย่างหลอดไฟ มาแลกไข่ไก่ เพื่อจูงใจให้เห็นประโยชน์ของขยะ ไม่นำไปทิ้งในลำคลอง ส่วนปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากขยะอินทรีย์ในจุดที่จัดเตรียมไว้ ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ได้ เช่น นำน้ำหมักไปผสมน้ำรดน้ำต้นไม้ หรือใช้ขัดห้องน้ำ เป็นต้น ในส่วนจุดคัดแยกขยะรีไซเคิลต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาค จะนำไปขายเป็นรายได้ส่วนรวมของชุมชนต่อไป ส่วนผู้ที่มีขยะรีไซเคิลก็สามารถนำไปขายเองได้ที่ร้านรับซื้อประจำชุมชน เช่น กระดาษ กิโลกรัมละ 3 บาท
"สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านต้องแยกขยะ 4 ประเภทจากที่บ้าน ได้แก่ 1.ขยะรีไซเคิล เช่น ขวด กระดาษ 2.ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ผลไม้ 3.ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ 4.ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก โฟมเปื้อนอาหาร ทิชชู่เปียก เป็นต้น เพื่อนำมาทิ้งในจุดคัดแยกของชุมชน โดยเฉพาะขยะทั่วไปสำหรับให้ กทม.จัดเก็บ กำหนดเวลาทิ้งเฉพาะวันอาทิตย์กับวันพฤหัสฯ เวลา 16.00 น.-05.00 น.เท่านั้น ส่วนขยะประเภทอื่นก็นำไปทิ้งหรือขายในจุดที่เตรียมไว้ให้" ประธานชุมชนสงวนคำ กล่าว
ด้าน นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร ให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่า กทม.จะไม่นำขยะที่แยกประเภทแล้วไป 'เทรวม' ตามที่หลายคนกังวล โดยจัดให้มีรถขยะเก็บเศษอาหารโดยเฉพาะ ส่วนรถขยะทั่วไปทุกคัน กำหนดให้มี 'ถังสีเขียว' สำหรับแยกเศษอาหารโดยเฉพาะเช่นกัน ประชาชนมั่นใจได้ว่าพนักงานจัดเก็บจะนำเศษอาหารแยกไว้ในถังสีเขียวบนรถขยะ
ขณะที่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดคือแยกขยะเปียกหรือเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องให้ กทม.จัดเก็บ เช่น ในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ จัดให้มีจุดคัดแยกเศษอาหารและขยะต่าง ๆ ของชุมชน นำไปเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนผู้ที่อาศัยในตัวเมืองก็สามารถหมักเศษอาหารนำไปใช้เป็ยปุ๋ยใส่ต้นไม้ของตัวเองได้ แต่ประชาชนและชุมชนอาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อย
ส่วนข้อกังวลเรื่องการจัดเก็บขยะไม่เป็นเวลาตามกำหนด เนื่องจากบางครั้งพนักงานลาป่วย อาจมีการขยับเวลาคลาดเคลื่อนออกไป แต่ส่วนใหญ่จะพยายามจัดเก็บให้ตรงเวลาตามรอบกำหนด ทั้งนี้ หากทุกชุมชนมีจุดพักรวมขยะ จะทำให้ กทม.จัดเก็บได้ง่าย เพราะไม่ต้องตามจัดเก็บตามบ้าน
"เรื่องขยะต้องร่วมมือกัน กทม. พยายามทำด้านฝั่งรัฐให้ดีที่สุด แต่ฝั่งต้นทางหากทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมนิดเดียว แทนที่จะส่งขยะให้กทม. การแยกขยะก็จะกลับกลายเป็นรายได้ของชุมชนไป เพราะขยะมีมูลค่า ดีกว่านำไปทิ้งรวมกัน การแยกขยะแต่ละคนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในภาพรวมทำยาก ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน
ที่ผ่านมาเราคิดว่าขยะเป็นเหมือนของวิเศษ เราโยนทิ้งไปเดี๋ยวมันก็หายตอนเช้า แต่ที่จริงแล้วเป็นภาระมาก กทม.เสียค่าจัดการขยะปีละ 7,000 ล้าน หากทุกคนร่วมมือกัน เปลี่ยนพฤติกรรมนิดหน่อย มีวินัยมากขึ้นนิดหน่อย ไม่ลำบากมาก ผมว่าเมืองจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ เรื่องระเบียบวินัยในการขับรถ ขี่มอเตอร์ไซค์ เรื่องความสะอาดเรียบร้อย เรื่องการเคารพสิทธิ์ผู้อื่น หากเราเริ่มก็เชื่อว่าเมืองจะดีขึ้น แต่ต้องค่อย ๆ ไป เราไม่ได้บังคับ เป็นทางเลือก หากคนไหนยังไม่อยากแยกขยะก็อาจจะต้องจ่ายค่าทำเนียมแพงขึ้นนิดนึง" นายชัชชาติ กล่าว