Together, We Run: ในปี 2025 ที่ ‘การวิ่ง’ เชื่อมโยงคอมมูนิตี้และผู้คน
รูปถ่ายโดย Hoka Thailand
เมื่อพูดถึง ‘การวิ่ง’ เราจะนึกถึงอะไร?
เวลาคุยกับเพื่อนเรื่องการออกกำลังกายช่วง 3-4 ปีก่อนตามประสาคนวัยเริ่มต้องสนใจสุขภาพ ผมพบว่าการวิ่งคือตัวเลือกของมนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก เนื่องจากมันเป็นกีฬาที่ใช้อุปกรณ์ไม่มาก แค่รองเท้าคู่เดียวก็เอาอยู่ บางคนไม่ต้องซื้อเสื้อกีฬาด้วยซ้ำ เราวิ่งได้โดยไม่ต้องสมัครสมาชิกฟิตเนสหรือสระว่ายน้ำ และที่สำคัญ การวิ่งคือกีฬาที่เราเล่นคนเดียวได้
ในหนังสือเกร็ดความคิดบนก้าววิ่งโดยฮารูกิ มุราคามิ การวิ่งคือห้วงเวลาของการทำสมาธิอย่างโดดเดี่ยว การนึกคิดเกี่ยวกับชีวิต ตัวตน และเรื่องภายในของตัวเองเช่นเดียวกับการเขียนหนังสือ ส่วนการวิ่งในภาพยนตร์อมตะ Forrest Gump คือสัญลักษณ์ของการเป็นอิสระ การจัดการห้วงอารมณ์กับตัวเอง และการเป็นแรงบันดาลใจ การวิ่งและความโดดเดี่ยวมาพร้อมกันเสมอไม่ว่าจะในชีวิตหรือในเรื่องเล่า แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้วในปีปัจจุบัน
อยู่มาวันหนึ่ง แทนที่จะนัดกันไปดื่มสังสรรค์หรือกินข้าวเย็น เพื่อนร่วมงานกลับนัดกันไปวิ่ง แถมยังมีกิจกรรม Run Club ผุดขึ้นมามากมายทั่วโลก กิจกรรมที่เปลี่ยนการวิ่งจากรูปแบบการออกกำลังกายให้กลายเป็นพื้นที่พบปะผู้คน วิ่งไปคาเฟฮอปไป หรือจะวิ่งไปไหว้พระไปก็มีแล้วแต่ธีม แน่นอนว่าการวิ่งยังคงเป็นกีฬาที่เราเล่นคนเดียวได้และมันยังเป็นกีฬาที่ทำให้เราตั้งสมาธิทบทวนบางอย่างภายในเราอยู่ ที่ต่างออกไปคือแม้เราจะเริ่มการวิ่งอย่างโดดเดี่ยว แต่กิจกรรมในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การสร้างชุมชนคนวิ่ง
ในฐานะแบรนด์รองเท้าวิ่งระดับแนวหน้า Hoka น่าจะสังเกตเห็นเทรนด์นี้ (หรือไม่ก็เป็นพวกเขาเองที่เป็นหัวหอก) ไม่อย่างนั้นพวกเขาคงไม่เลือกเปิดตัวแคมเปญล่าสุดที่ The Corner House Bangkok ตึกสำหรับทำกิจกรรมไลฟ์สไตล์คนเมืองในตึกชัยพัฒนสิน พื้นที่ที่มักรองรับกิจกรรมเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์และไลฟ์สไตล์หลากหลาย แถม Hoka ยังพาแบรนด์พาร์ทเนอร์นอกสายกีฬามาร่วมงานนี้อีกด้วย
แคมเปญใหม่ของ Hoka มีชื่อว่า ‘Together, We Fly Higher’ (เราจะบินได้สูงขึ้น เมื่อเราบินไปด้วยกัน) ซึ่งฉายภาพให้เราเห็นว่าในการออกไปงานวิ่งต่างๆ แม้เราจะวิ่งของเราคนเดียว แต่มีผู้คนรอบๆ มากมายใน ‘ระบบนิเวศ’ ของการวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนและครอบครัวผู้เป็นคนสนับสนุนเหล่านักวิ่ง สตาฟงานผู้เป็นฟันเฟืองของกิจกรรมวิ่งที่ทำให้มันเคลื่อนไปข้างหน้าได้ และนักวิ่งคนอื่นๆ ที่เราเจอระหว่างทาง คนที่เราหันไปยิ้มให้ด้วยเมื่อเขาวิ่งผ่านเราไป คนที่คอยช่วยกันและกันเมื่ออีกคนล้ม หรือคนที่ลดเพซการวิ่งให้ช้าลง เพื่อไม่ให้อีกคนที่วิ่งช้ากว่าต้องวิ่งไปคนเดียว
ทว่า Hoka มองไปไกลกว่าระดับการวิ่งและระดับผู้คน แต่มองไปถึงระดับแบรนด์ แม้จะเป็นแบรนด์เครื่องแต่งกายกีฬา พาร์ทเนอร์ที่มาร่วมทำงานในแคมเปญนี้คือ:
- Sarnies & Friends - ร้านอาหารที่เปิดโอกาสให้แบรนด์หรือคนทำงานสร้างสรรค์มาร่วมปรับแปลงพื้นที่ร้านและร่วมกันสร้างเมนู
- Carnival BKK - แบรนด์สตรีทแฟชั่นแนวหน้าของไทย
- iwelty - ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสุขภาพและสนับสนุนให้คนรู้จัก Wellness ในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น
- Cruise Control Run Club - คลับวิ่งที่กิจกรรมส่วนมากเพ่งเล็งไปยังการมองกีฬาวิ่งเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์มากกว่าการออกกำลังกายอย่างเดียว
- The Corner House Bangkok - Creative Space ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนผืนผ้าใบให้คนทำงานสร้างสรรค์มาแต่งแต้มพื้นที่ของพวกเขา
โดยแบรนด์ทั้ง 5 ร่วมงานกับ Hoka ด้วยความถนัดของตัวเองกันจนถึงเดือนหน้า ซึ่งมีทั้งการจัดกิจกรรมวิ่งยามเช้าและยามค่ำ กิจกรรมการเยียวยาร่างกายรอบด้าน สร้างเมนูอาหารพิเศษสำหรับ Hoka และเปลี่ยนร้านอาหารให้กลายเป็น Hoka Culture Club
“มองย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน การวิ่งคือกิจกรรมที่โดดเดี่ยว คนส่วนมากจะวิ่งคนเดียวหรือไม่ก็เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ว่าตอนนี้เราเริ่มเห็นรันคลับมากมายสร้างคอมมูนิตี้ที่มีคนออกมาวิ่งพร้อมกันเป็นร้อยๆ คนได้” เอริค ชาน เจ้าของร้านอาหาร Sarnies พูดในเสวนาที่งาน วาดภาพให้เราเห็นว่าการวิ่งเปลี่ยนไปอย่างมากในสายตาของผู้คน และชานมองว่ามันคือพื้นที่สำหรับการสร้างชุมชน ส่วน Cruise Control Run Club ก็มองว่าการวิ่งเป็นเทรนด์ได้ในปัจจุบันนี้เพราะว่าผู้คนมองมันนอกเหนือจากการเป็นกีฬาเฉยๆ แต่เป็นกิจกรรมไลฟ์สไตล์
เอริค ชาน - เจ้าของร้านอาหาร Sarnies
ตัวอย่างของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นคือการวิ่งตอนเช้าแล้ววิ่งจบที่ Sarnies & Friends เพื่อนั่งพักผ่อนคูลดาวน์ไปกับอาหารที่ทำพิเศษเฉพาะในช่วงอีเวนต์นี้ กิจกรรมเวิร์กชอป Hoka Healiday for Runners โดย iWelty ที่จะรวบรวมกิจกรรมฟื้นฟูสุขภาพกายและใจสำหรับนักวิ่งโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยโยคะ การฝึกลมหายใจ การบำบัดผ่านคลื่นเสียง พิลาทิส จิบกาแฟพร้อมเสียงดนตรี ฯลฯ
กิจกรรมที่เราเล่าไปแสดงออกให้เราเห็นว่าการวิ่งและการออกกำลังกายเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2024 แอปพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพ Strava ทำการสำรวจเกี่ยวกับเทรนด์กีฬาประจำปี หัวข้อแรกของพวกเขาชื่อว่า ‘Run Club is the new nightclub’ (คลับวิ่งกำลังแทนที่การไปผับ) นั่นคือคนรุ่นใหม่เดินเข้าคลับวิ่งมากขึ้นถึง 59% ทั่วโลก ผู้คนได้เพื่อนใหม่จากการไปทำกิจกรรมนี้กันถึง 58% แถมยังมีคนได้แฟนจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้จำนวนมากด้วย และที่สำคัญคือสถิติที่บอกว่าคน 40% เชื่อว่าการวิ่งด้วยกันทำให้พวกเขาวิ่งได้นานขึ้นและไกลขึ้น
เมื่อเทียบกับเทรนด์โลกอื่นๆ เช่น การที่คนเจน Z บริโภคแอลกอฮอลที่น้อยลง เที่ยวผับบาร์น้อยลง และสภาวะความตึงเครียดของสังคมโลกค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน ความนิยมของกิจกรรมวิ่งเหมือนเป็นการพูดกลายๆ ว่าคนรุ่นใหม่เริ่มมีทางเลือกใหม่ๆ ในการปลดปล่อยความเครียดของตัวเองนอกเหนือจากความเมามาย ทางออกที่กำลังได้รับความนิยมคือกีฬาและการมองหาสังคมใหม่ๆ
หนึ่งเทรนด์ที่ผมเห็นอย่างชัดเจนในการติดตามบทสนทนาล้านแปดบนโซเชียลมีเดียคือการต้านกระแส ‘ความเป็นปัจเจก’ (Individualism) นั่นคือคนจำนวนมากเริ่มต่อต้านแนวคิดการพัฒนาตัวเองหรือความเชื่อว่าการอยู่รอดคือการต้องเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเสมอ แต่ทางรอดของเราบนโลกใบนี้ในฐานะคนตัวเล็กๆ ที่รู้สึกไร้พลังอยู่บ่อยๆ คือการมองถึงคนรอบข้างเรา ไม่ว่าจะหมายถึงประเด็นการทำงาน การเรียกร้องทางการเมือง หรือในการใช้ชีวิตทั่วไป และความสนอกสนใจใน Run Club ที่พูดถึงไปดูจะสะท้อนเทรนด์นี้
นอกจากนั้น การเข้าร่วม Run Club ยังสร้าง ‘กิจวัตร’ และ ‘ความสม่ำเสมอ’ ให้กับเราอีกด้วย อุปสรรคแรกๆ ที่คนเริ่มออกกำลังกายต้องเจอคือออกได้ แต่เราออกไม่เป็นเวลา ออกไม่สม่ำเสมอ และท้ายที่สุดก็หยุดไปเพราะว่าเราคือคนที่รับผิดชอบตารางการออกกำลังกายของตัวเอง แต่เมื่อเรามี Run Club แล้ว เราก็มีตารางกิจกรรมที่แน่ชัด แถมเราไม่ได้ไปวิ่งเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่เพื่อเจอกับเพื่อนของเราด้วย และการมี Peer Pressure อย่างพอดีก็สามารถส่งผลกระทบแง่บวกได้ ในยุคที่เราทำงานจากที่ไหนก็ได้และเราสามารถสั่งอะไรก็ได้มาส่งที่บ้าน การมีโครงสร้างบางอย่างในชีวิตสามารถช่วยมอบทิศทางให้กับเราได้
น่าสนใจมากๆ ที่มุมมองเกี่ยวกับการวิ่งเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้ ในห้วงเวลาหนึ่งการออกไปวิ่งเป็นเหมือนการ ‘โดนทำโทษ’ หรือ ‘การไถ่บาป’ ที่เราต้องทำเพราะเราน้ำหนักมากเกินไปหรือต้องเริ่มเตรียมตัวสำหรับร่างกายที่กำลังแก่ตัวลง แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าภาพจำนั้นจะค่อยๆ จางหายไป แทนที่ด้วยการวิ่งในฐานะกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ที่เราได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งกิจวัตรใหม่ๆ ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ
ส่วนสุขภาพก็แทบจะเป็นผลพลอยได้ไปเลย
อ้างอิง: press.strava.com
บทความต้นฉบับได้ที่ : Together, We Run: ในปี 2025 ที่ ‘การวิ่ง’ เชื่อมโยงคอมมูนิตี้และผู้คน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Together, We Run: ในปี 2025 ที่ ‘การวิ่ง’ เชื่อมโยงคอมมูนิตี้และผู้คน
- เมื่อสหรัฐฯ ตัดงบด้านมนุษยธรรม ไทยอาจต้องให้ผู้หนีภัยได้ทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน
- Mega Crew ในรายการ World of Street Woman Fighter เมื่อวัฒนธรรมโลกปะทะกันบนเวทีแดนซ์
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath