สปสช. -อปท. จ้างคนดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
19 กรกฎาคม 2568 นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. เตรียมจัดการประชุมชี้แจงเรื่อง "การบริหารค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อเป็นค่าจ้างผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน" ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ปีงบประมาณ 2568 ในวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2568 นี้
ทั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนภายหลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบหลักการแนวทางการบริหารค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงฯ และ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงฯ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาเพื่อสร้างความเข้าใจและซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการจ้างงานงานผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงตามนโยบายรัฐบาล ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยบริการทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงขอเชิญชวน อปท. หน่วยบริการในระบบสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมแบบออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในวันที่ 21 ก.ค. 2568
สำหรับหัวข้อการประชุมจะแบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย การบรรยายในหัวข้อ "การบริหารและแนวปฏิบัติค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อเป็นค่าจ้างผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ปีงบประมาณ 2568" และหัวข้อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นของ อปท.และการเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าจ้างผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลฯ
รวมถึงการบรรยายในหัวข้อการบริหารจัดการระบบบริการ เพื่อจ้างงานผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลฯ และการเปิดให้ผู้ร่วมประชุมซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ
สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจครั้งสำคัญ นอกจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลแล้วยังถือเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับการจัดบริการสุขภาพในระดับชุมชนโดยตัวชุมชนเอง ซึ่งขอให้ อปท.หน่วยบริการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกันมาก ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพร้อมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นเองในการเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งผู้มีภาวะพึ่งพิง ผู้ดูแลและครอบครัว ตลอดจนเกิดการจ้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้เกิดการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม