[Vision Exclusive] TU แนะเปิดเจรจา FTA หวังต่อรองภาษีสหรัฐ
หุ้นวิชั่น
อัพเดต 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.44 น. • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • HoonVision | หุ้นวิชั่น - หุ้น ข่าวหุ้น หุ้นไทยวันนี้ หุ้นวันนี้ หุ้นเด่น วิเคราะห์หุ้น ธุรกิจ การเงิน เศรษฐกิจ การลงทุน ดัชนีราคาหุ้นหุ้นวิชั่น-TU แนะรัฐ ทำ FTA กับสหรัฐ-ยุโรป ชูจุดแข็งสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก หวังต่อรองภาษีสหรัฐลดเหลือ 10% หนุนความสามารถการแข่งขัน มองหากเจรจาไม่สำเร็จ กระทบทั้งประเทศแน่ ขณะที่บริษัทมีสัดส่วนส่งออกตลาดสหรัฐ 40.2% เผยปัจจุบันยังไร้ผลกระทบ และยังไม่เห็นสัญญาณเร่งสต็อกคำสั่งซื้อลูกค้า แต่เตรียมพร้อมมีคุยผู้นำเข้า-ผู้ซื้อแล้ว พร้อมจับตาเจรจาการค้าใกล้ชิด ยังเชื่อมั่นไทยคว้าดีลดี
นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยอมรับหากประเทศไทย โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ในอัตราสูง 36% อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของ TU คือตลาดสหรัฐ คิดเป็นราว 40.2% รองลงมา คือ ยุโรป ราว 27.2% ที่เหลือเป็นตลาดอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น, ตะวันออกกลาง เป็นต้น
ผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแค่จะเกิดกับบริษัท แต่ยังมีผลต่อผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกไปสหรัฐทุกราย เนื่องจากทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงรอดูความชัดเจนการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐ โดยคาดหวังว่าไทยจะได้ดีลอัตราภาษีนำเข้าในระดับต่ำ หรือราว 10% เพื่อให้ยังคงแข่งขันต่อไปได้ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้แนะรัฐบาลควรทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐ และยุโรป เช่นเดียวกับที่ได้ทำไว้กับจีน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการประกาศเก็บภาษีใหม่ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ส่งออกไทยในตลาดใหญ่นี้เนื่องจากมองว่า ประเทศไทยนั้นมีจุดแข็งในเรื่องของสินค้าเกษตร กุ้ง หอย ปู ปลา และไม่ควรไปแข่งกับตลาดจีน และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยนั้นแข่งขันยาก เนื่องด้วยจีนมีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ส่วนเวียดนามนั้น มีต้นทุนที่ต่ำ โดยอยากให้รัฐบาลหาจุด หรือความต้องการของสหรัฐให้เจอ และต้องรู้ให้ได้ว่าสหรัฐกลัวอะไร เช่น กลัวเรื่องการส่งสินค้าจากประเทศที่สามที่ถูกส่งผ่านไทย (Transshipment) ก่อนส่งออกไปยังสหรัฐ ก็อยากให้รัฐบาลใจกล้าๆ ให้ภาษีสหรัฐไปเลย 50% ซึ่งจะสูงกว่าเวียดนาม ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 40% เป็นการถือโอกาสในการจัดการปัญหาภายในบ้าน และเพื่อเจรจาต่อรองการค้าในครั้งนี้ให้สำเร็จ พร้อมกับยึดสิทธิประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
“บ้านเรามีจุดแข็ง มีดีเยอะ เราต้องเล่นในเกมส์ที่เราเก่ง นั้นก็คือสินค้าเกษตร กุ้ง หอย ปู ปลา เพื่อให้เขามาซื้อกับเรามากขึ้น ส่วนคนอื่น ใครเก่งเรื่องอะไรก็ปล่อยให้เขาทำไปอย่างนั้น เช่น เวียดนาม เก่งอุตสาหกรรมสิ่งทอ, จีน ไต้หวัน เก่งเรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น เราไปแข่งกับเขา หรือเอเชียลำบาก หากเราได้อัตราภาษีนำเข้าสูง หรือแม้จะลดลงมา 5-10% ก็ยังแข่งลำบากอยู่ดี ไม่ใช่แค่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่มันกระทบทั้งประเทศ อย่างไรก็ดีถ้าเราได้ในอัตราเท่ากัน ก็ยังพอแข่งขันไปได้ แต่ดีที่สุดคือ ต้องได้ในอัตราภาษีที่ 10%” นายฤทธิรงค์ กล่าว
สำหรับในเรื่องของการปรับตัวนั้น บริษัทฯ ได้มีการส่งออกไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่หาตลาดใหม่ๆ มาแล้วหลายปี แต่ก็ยอมรับว่าตลาดอื่นๆ ยังแข่งขันได้ยาก อีกทั้งยังมีฐานการส่งออกกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลกแล้วเช่นกัน ทำให้มองว่าปัญหา หรือผลกระทบจากภาษีขณะนี้ เป็นเรื่องที่เกินควบคุม เป็นปัญหาระหว่างรัฐกับรัฐ หากรัฐบาลเจรจาไม่สำเร็จ หรือลดภาษีสหรัฐได้น้อย ก็จะส่งผลกระทบทั้งประเทศ
ส่วนผลกระทบในขณะนี้ยังไม่พบ และยังไม่เห็นถึงการเร่งสต็อกคำสั่งซื้อของลูกค้าแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันไทยโดนเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐอยู่ที่ 10% โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็มีการเจรจากับทั้งผู้นำเข้า หรือผู้ซื้อ เพื่อไม่ให้บริษัทต้องแบกรับอัตราภาษีที่สูงขึ้น แต่ก็ยังรอดูความชัดเจนการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐก่อน เนื่องจากยังมีความหวังว่ารัฐบาล จะทำให้ไทยยังสามารถแข่งขันได้ ไม่เสียเปรียบคู่แข่งในเอเชีย
นอกจากนี้ยอมรับว่าบริษัทฯ ยังเผชิญกับปัจจัยการแข็งค่าของค่าเงินบาทด้วย หากเทียบกับคู่แข่งอย่าง เวียดนาม อินเดีย จีน ขณะนี้ไทยถือว่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมาก แม้บริษัทฯ จะมีการทำป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินทุกครั้งที่มีการขายก็ตาม แต่ก็อาจกระทบต่อการรับรู้รายได้
รายงานโดย : พชรธร ภูมิคำ รองบรรณาธิการข่าว Hoonvision