กรมชลฯ เฝ้าระวังรับมือพายุ ‘วิภา’ บูรณาการทุกภาคส่วน เร่งช่วยเหลือประชาชน
กรมชลฯ เฝ้าระวังรับมือพายุ "วิภา" เกาะติดสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำสำคัญทั่วประเทศ บูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมเร่งช่วยเหลือประชาชน
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 กรกฎาคม 2568 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปริมาณฝนทั่วประเทศสูงกว่าค่าปกติ 16% (ค่าปกติประมาณ 652 มิลลิเมตร(มม.) ขณะที่ฝนปีนี้อยู่ที่ประมาณ 756.5 มม.)
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (22 ก.ค. 2568) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 45,274 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 59% ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูฝนนี้ เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,172 ล้านลูกบาศก์เมตร (57% ของความจุอ่างฯรวมกัน)
ทางด้านเขื่อนเจ้าพระยา ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได เพื่อรองรับมวลน้ำเหนือที่กำลังไหลลงมาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกในพื้นที่ตอนล่าง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้เฝ้าระวังและติดตามปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำสำคัญทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในภาคเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ชี และมูล ภาคกลาง ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับน้ำฝนและป้องกันผลกระทบจากพายุที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำและเขตชุมชนริมแม่น้ำสายต่าง ๆ
ในส่วนของพายุวิภา กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือ มีแนวโน้มเกิดฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ของ กนช. อย่างเคร่งครัด ได้แก่
- บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับแนวโน้มฝน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก พร้อมพร่องน้ำล่วงหน้าเพื่อรองรับน้ำฝน
- ตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- จัดเตรียมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ช่วยเหลือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถแบคโฮ และเรือผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงน้ำหลาก
- ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที และวางแผนการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
หากประชาชนพบปัญหาน้ำท่วม หรือมีข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ สามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมชลฯ เดินหน้าจ้างแรงงานต่อเนื่อง ยอดทะลุกว่า 93%
- กรมชลฯ เตือนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับน้ำเหนือเพิ่ม 20-80 ซม.
- เปิดทางน้ำทั่วไทย!! กรมชลฯ ลุยกำจัดผักตบ-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ฝ่าวิกฤตฤดูฝน
ติดตามเราได้ที่